12/27/2009

อะไรสำคัญที่สุด ตอนที่ 2

สำหรับผู้สนใจบ้านนกแอ่น วันนี้ผมพาท่านมาดูวัดช่องลมตอนที่ 2 ครับ หลังจากตอนที่แล้วเป็นภาพนิ่งคราวนี้ผมได้แวะไปถ่ายเป็นภาพเคลื่อนไหวลองดูกันนะครับ

นกแอ่นกำลังบินวนก่อนออกจากโบสถ์ครับ



ลูกนกแอ่นกำลังหัดบิน เผื่อใครยังไม่เห็นเพราะผมก็เพิ่งเห็นจริง ๆ ชัด ๆ เหมือนกันครับ



ภาพนกแอ่นกำลังบินออกจากโบสถ์ครับ



หากท่านพอมีเวลาก็ลองแวะไปดูนกแอ่นจริง ๆ ได้นะครับ
สำหรับนกแอ่นแล้ว ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญไม่รองจากปัจจัยอื่น ๆ เลยครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/26/2009

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์ คือ สิ่งสำคัญที่นักทำบ้านนก ควรจะเข้าใจ อย่างถ่องแท้ มิฉะนั้นสารพัดปัญหาจะตามมา


ความชื้นสัมพัทธ์คืออะไร
คือปริมาณหรือน้ำหนักของน้ำที่ อากาศอุ้มไว้ได้ โดยที่ยังไม่เป็นหยดน้ำ ที่อุณหภูมิสูงอากาศก็อุ้มน้ำได้มากขึ้น ที่อุณหภูมิต่ำ อากาศ ก็อุ้มน้ำได้น้อยลง ดูกราฟด้านบนอากาศที่อุ้มน้ำไว้นี้ หากยังไม่เกิน 100 %RH จะเบากว่าอากาศ (ถ้าสงสัยว่าทำไม ต้องอธิบายอีกยาว) มันคือ สาเหตุที่ทำให้ อากาศสามารถอุ้มน้ำแล้วลอยขึ้นข้างบนจนเป็นเมฆ เมื่อไรที่ปริมาณน้ำนี้มากเกิน 100%RH หรือที่เรียกว่า ถึงจุด ดิวพอยท์ น้ำก็จะรวมตัวกันเป็นหยดน้ำ ตกลงมาเป็นฝน

แล้วเกี่ยวกับบ้านนกอย่างไร บ้านนกที่อยู่ในที่ อากาศไม่ร้อนมาก มีฝนตกชุก เช่นทางภาคใต้ของไทย แทบไม่ต้องทำอะไร ความชื้นก็ เกือบๆจะถึง 80%RH อยู่แล้วแค่ใส่อ่างน้ำ หรือ เครื่องพ่นหมอก นิดหน่อยก็ได้ความชื้นที่ต้องการแล้ว เพราะที่อุณหภูมิต่ำ(สมมุติที่ 28องศา) อากาศอุ้มน้ำได้ไม่มาก(เพียง~25กรัมต่อ อากาศ 1 กิโลกรัม) ก็จะได้ความชื้นสัมพัทธ์ 100%RH แล้ว แต่ในที่อุณหภูมิสูง(สมมุติที่ 35องศา) อากาศอุ้มน้ำได้มาก (เกือบ 40 กรัมต่อ อากาศ 1 กิโลกรัม) ถึงจะได้ความชื้นสัมพัทธ์ 100%RH

ในที่ที่อากาศร้อน ฝนก็ไม่ค่อยตก เช่นทางภาคกลางและภาคเหนือ เราก็เลยมักจะวัดค่า ความชื้นสัมพัทธ์ได้ต่ำต้องพ่นหมอกกันเป็นการใหญ่ พ่นยังไงก็ไม่ได้สักที ถ้าไม่ลดอุณหภูมิลงมา พ่นมากๆเข้า น้ำไม่อยู่ในอากาศ เข้าไปอยู่ในไม้กันหมด เป็นไงหละ ไม้ก็ขึ้นรา นกก็หายหมดเลย

เขียนบทความโดยคุณ Tweeter

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/21/2009

แหล่งความรู้ของผม

"ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ได้มาง่ายๆ ก็ไม่มีคุณค่าเท่ากับที่เราได้มาด้วยความพยายามและความทุ่มเทของเรา"

ท่านอ่านแล้วรู้สึกยังไงบ้าง ส่วนผมแล้วทำให้ผมรู้สึกถึงสิ่งที่ผมต้องการ จงอย่าท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค ท่านจงเปิดใจตัวเองให้กว้างรับสิ่งต่าง ๆ อย่าปิดกั้น อะไรที่รู้มาบางครั้งก็เป็นเรื่องจริง แต่ยังมีสิ่งที่ดีกว่าหากท่านลงมือศึกษาเอง

หนังสือแนะนำให้ลองอ่านดูนะครับ

หนังสือที่เขียนโดย Dr.Christopher Lim รวบรวมข้อมูลนกแอ่น การเลือกทำเล และการสร้างบ้านนกแอ่น


หนังสือเขียนโดย Dr.E.Nugroho,DVM เป็นอีกเล่มที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าให้ความรู้ในการสร้างบ้านนกแอ่นดีมาก ๆ อีกเล่มครับ

หนังสือที่เขียนโดย Dr.E.Nugroho,DVM และ Dr.Whendrato,DVM ในเล่มก็บรรจุเทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างบ้านนกแอ่น

หนังสือด้านบนคือหนังสือส่วนหนึ่งที่ให้ความรู้กับผม ผมเห็นว่าดีจึงแนะนำต่อ ( ไม่รู้เค้าจะได้ค่านายหน้าหรือเปล่า )

การทำบ้านนกแอ่นทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผล หากท่านเพียงคิดว่าทำ.... ยังงี้แล้ว....จะเกิดยังงั้น โดยไม่มีเหตุและผล ถ้าท่านทำบ้านนกแอ่นสำเร็จถือว่าท่านดวงดีครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

สร้างบ้านนกแอ่น เชื่อใครดี

เมื่อท่านจะสร้างบ้านนกแอ่นสักหลัง ท่านต้องหาข้อมูล ทำการบ้านให้หนัก ๆ เพราะเมื่อท่านไปถามคนที่ทำบ้านนกแอ่นอยู่แล้ว จากที่เคยได้ยินมาเค้าจะบอกว่าอย่าทำเลยนกแอ่นน้อย แต่ตัวเองสร้างบ้านนกแอ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าท่านเลือกที่จะไปถามคนที่รับปรึกษาเรื่องการสร้างบ้านนกแอ่น (แบบที่เสียเงิน) คำตอบที่ได้คือ ทำได้ รีบลงมือเลย นกแอ่นมีแน่นอน ท่านลองคิดดูนะครับ ถ้าท่านยังไม่มีความรู้ไม่ว่าท่านได้รับข้อมูลใดมา ท่านย่อมไขว้เขวตามเหตุผลต่าง ๆ ที่ท่านได้รับฟังมา ผมก็ไม่ได้เก่งมากมายนะครับ แต่ผมไม่อยากให้คนที่มีกำลังทรัพย์จำนวนจำกัดต้องมาเสียเงิืนสร้างบ้านนกแล้วล้มเหลว เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากมาย คราวนี้ลองมาดูแหล่้งข้อมูลที่ท่านสามารถหาอ่านได้นะครับ

1. ถามคุณ Google ดู จะพบแหล่งความรู้ที่พอหาอ่านได้ไม่ยากแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจุดประสงค์ของการให้ความรู้จะต้องการผลประโยชน์หรือไม่ ท่านก็ได้ความรู้ในระดับหนึ่งครับ

2. ถามจากคนมีประสบการณ์ ตรงนี้ถ้าท่านตรงไปถามเลยคงยากครับ คุณ Google อาจบอกได้มากกว่า แต่ถ้าท่านสนิทแล้ว ผู้มีประสบการณ์เหล่านี้แหละครับ คือครูที่ดีแน่ ๆ ครับ

3. อ่านหนังสือที่พอจะมีขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ อาจต้องสั่งมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งคงไม่ยากลำบากหากท่านต้องการความสำเร็จ

4. การเข้าอบรมสัมนา ท่านมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการหาความรู้ด้วยวิธีอื่นแน่ ๆ ครับ แต่ท่านก็จะได้ความรู้ที่หลากหลายและลึกมากขึ้น หากท่านเลือกเข้าอบรมสัมนากับคนที่มีผลงานและเก่งจริง แต่หากเลือกผิดท่านก็อาจไม่ได้รู้อะไรเพิ่มจากที่ท่านได้อ่านตรงนี้เลยครับ

ข้อมูลที่ได้มา ท่านจงเอามากรองอีกครั้งนะครับ เพราะท่่านคือผู้รู้จักพื้นที่ของท่านดีกว่าใคร ๆ สุดท้ายแล้ว จงเชื่อตัวท่านเองครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/09/2009

บ้านนกแอ่นท่านมีโอกาสแค่ไหน (Potential areas to establish a swiftlet house)

บทความนี้มาดูภาพง่าย ๆ และมาตีความกันนะครับ


ภาพนี้ มาหนังสือ Make Millions From Swiftlet Farming ของ DR. Christopher Lim เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมได้ซื้อมาศึกษาครับ

สรุปง่าย ๆ คือท่านต้องเข้าใจพื้นที่ท่านเสียก่อนครับ ว่าจุดศูนย์กลางของพื้นที่เป็นบริเวณใด ถ้าท่านรู้แล้วนั่นแหละครับคือ Area 1 มีโอกาสมากมายครับในพื้นที่นี้
Area 2 เป็นแหล่้งอาหารโดยตรง พื้นที่บริเวณนี้จะมีโอกาสรองลงมา แต่สำเร็จได้ครับ
Area 3 เป็นพื้นที่ใกล้แหล่งอาหาร ท่านใดทำบริเวณนี้ต้องอดทนรอหน่อยนะครับ
Area 4 เป็นพื้นที่ที่ไม่แนะนำเลยครับ โอกาสน้อยมาก ๆ ในการทำบ้านนกแอ่นให้ประสบความสำเร็จ

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

12/08/2009

ชวนกันมาช่วยโลก

ตอนนี้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดก็หนักขึ้น เช่น พายุที่รุนแรงขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายมากมาย สภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ทุกประเทศตื่นตัว ดังนั้นได้เวลาที่พวกเราทั้งหลายที่จะต้องช่วยกันกอบกู้โลกน้อย ๆ ใบนี้ มาดูวิธีกอบกู้โลกกันนะครับ (คลิ๊กภาพจะใหญ่ขึ้นครับ)


ขอขอบคุณ www.plus.co.th/greenforward

เมื่อท่านรักธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะให้สิ่งดี ๆ กับท่านครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

บ้านนกแอ่นสร้างที่ไหนได้บ้าง

หลาย ๆ ท่านมีคำถามว่าพื้นที่ไหนควรทำบ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ถามอีกคนก็บอกว่าทำบ้านนกแอ่นได้หมดทุกที่ เห็นนกแอ่นตรงไหนก็ทำได้ตรงนั้น ตรงนี้จริงครับ แต่นกแอ่นจะอยู่เต็มบ้านหรือไม่ การเพิ่มจำนวนของนกแอ่นได้ตามต้องการหรือไม่ ค่อยว่ากันทีหลัง หากท่านมีทุนหนาจะสร้างตรงไหนก็คงไม่เป็นไร (ถ้ารอได้นาน ๆ จะคุ้มทุนเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ดวง)

แต่เมื่อถามอีกคนก็บอกว่าอย่าทำเลย นกแอ่นน้อยไม่รู้เมื่อไหร่จะคุ้มทุน แต่คนที่บอกว่าอย่าทำกลับสร้างเอา ๆ ไม่นานมีบ้านนกแอ่นหลายหลัง

ดังนั้นเมื่อท่านได้อ่าน ได้ฟังสิ่งต่าง ๆ แล้วจงอย่าเชื่อ 100% ทุกสิ่งที่ท่านได้อ่านหรือศึกษามาล้วนเป็นเพียงพื้นฐานให้ท่านได้คิดและวิเคราะห์ เพื่อจะได้นำมาต่อยอดหรือหากท่านเจอปัญหาจะได้แก้ไขได้ตรงกับสาเหตุ สำคัญที่สุดท่านต้องทำการบ้านด้วยตัวท่านเองหนัก ๆ หากท่านไม่มีเวลาระบบการบันทึกข้อมูลจะเป็นฐานข้อมูลให้ท่านเป็นอย่างดีครับ

พื้นที่ที่สามารถทำบ้านนกแอ่นได้


ขอบคุณสำหรับข้อมูลภาพจากผู้ที่ให้มานะครับ
อ้างอิงจาก Swiftlets of Borneo

ข้อมูลที่ผมได้บอกเป็นเพียงตัวนำทางให้ท่านได้ทราบ ปัจจุบันมีการสร้างบ้านนกแอ่นในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันบ้างแล้ว สุดท้ายแล้ว ท่านเป็นคนตัดสินใจ ขอให้ท่านได้ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำกันทุก ๆ ท่านนะครับ นกแอ่นเต็มบ้าน ช่วยกันสร้างรายได้เข้าประเทศ หากแต่ผมไม่อยากให้คนที่มีงบประมาณจำกัดต้องอยู่ในกลุ่ม 70 % ที่ไม่ประสบความสำเร็จ (เป็นตัวเลขในอดีต ปัจจุบันอาจไม่ถึงแล้ว) อย่าให้ตัวเลขต่าง ๆ มาทำให้ท่านด่วนตัดสินใจ หมั่นศึกษาหาความรู้จะได้ตัดสินใจไม่ผิดพลาดนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/07/2009

การเพิ่มจำนวนประชากรของนกแอ่น


หลายท่านคงได้ศึกษาเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรของ นกแอ่น (Swiftlet) มาแล้ว ซึงโดยในทางทฤษฎีแล้ว นกแอ่นจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ 3 เท่าตัว จากการที่นกแอ่นวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง จำนวนสามรอบในหนึ่งปี ดังนั้นท่านอาจเข้าใจว่า จำนวนประชาการนกแอ่นต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว อัตราการรอดของนกแอ่นน้อยมาก จากที่ผมได้วิเคราะห์ดูแล้ว ในหนึ่งปีนั้นนกแอ่นจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้เต็มที่เพียงหนึ่งเท่าตัว เช่้นปีนี้นกแอ่นในพื้นที่ของท่านมีอยู่ 10,000 ตัว ปีหน้าจะมีนกแอ่นเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตัว กรณีที่นกแอ่นอาศัยในถิ่นเดิม (ตรงนี้ท่านใดไม่เชื่อก็ได้นะครับ)

คราวนี้ท่านต้องคิดคำถามที่ผมได้เน้นไว้เสมอนะครับ Location ที่ท่านอยู่นั้นสามารถรองรับนกแอ่นได้ปริมาณเท่าไหร่ (ตรงนี้ตอบยากครับ) หากพื้นที่รับนกแอ่นได้แค่้ 10,000 ตัว จำนวนนกแอ่นที่เพิ่มขึ้นมา ก็ต้องอพยพไปหาแหล่งอาหารใหม่ นกแอ่นในพื้นที่ของท่านก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเลยครับ ดังนั้นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ การหาพื้นที่ที่เหมาะสมจึงเป็นกลไกของความสำเร็จ สำหรับบ้านนกแอ่นของท่านครับ

ขอให้ท่านวิเคราะห์และสร้างบ้านนกแอ่นบนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีนกแอ่นเข้าอยู่มาก ๆ นะครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก swiftletfarmer

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

บ้านนกแอ่น ตอนที่ 1

สำหรับการสร้างบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ของผม เป็นบ้านนกแอ่นหลังเล็ก ๆ ที่หวังว่านกแอ่นคงจะชอบและถูกอกถูกใจ ดูภาพรวม ๆ สำหรับตอนที่ 1 นะครับ เป็นก้าวแรกสำหรับผม


เริ่มด้วยที่ดินที่รกร้างมานานแล้วครับ รอการปรับพื้นที่

หลังจากรถมาไถหน้าดินออกไปนิดหน่อย คราวนี้ที่ดินเริ่มหล่อขึ้นมาแล้วครับ


เสาเข็มก็ตามมาลงเลยทันทีทันใด (ในภาพไม่ใช่ผมนะครับ ผมหล่อสู้ไม่ได้อย่าเข้าใจผิดนะครับ)

ไม่นานเสาเข็มที่กองอยู่ก็จมหายไปในดิน ตรงขั้นตอนนี้สำคัญนะครับ หากเสาเข็มไม่ลึกพอระวังตึกจะค่อย ๆ จมนะครับ เพราะตอกเสาเข็มไม่ลึกถึงชั้นของดินที่แน่นพอครับ

ภาพนกแอ่นที่บินอยู่บริเวณใกล้ ๆ บินอยู่ที่เหนือบ้านนกแอ่นหลังแรก ๆ ครับ ด้วยหวังว่าลูกหลานของพวกเค้าจะสนใจบ้านนกแอ่นที่ผมได้สร้างขึ้นมาครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

11/30/2009

อะไรสำคัญที่สุด

ท่านลองเรียงความสำคัญในการสร้างบ้านนกแอ่นในใจท่านดูนะครับ ว่าอะไรสำคัญที่สุดและอะไรคือสิ่งรอง ๆ ลงมา ให้ท่านคิดดูนะครับ คิดได้ยังไงก็แสดงความคิดเห็นได้นะครับ

ส่วนผมเอารูปมาฝากครับ เป็นทริปสด ๆ ร้อน ๆ โดยผมได้แวะดูนกที่วัดช่องลมก่อนการเดินทางกลับจากการพาลูกไปเที่ยวกรุงเทพครับ (คนบ้านนอกไปเที่ยวกรุงหน่อย เปิดหูเปิดตาครับ)

ภาพแรกเป็นโบสถ์เดิม (วิหารหลวงปู่แก้ว) ที่นกแอ่นเข้ามาทำรังกันครับ ขณะที่ผมเข้าไปดูก็ยังมีผู้คนเข้าออกโบสถ์ตลอดเวลา

ภาพที่สองเป็นในส่วนของโบสถ์ที่นกแอ่นเข้ามาทำรัง มีทั้งลูกนกและนกแอ่นตัวโตที่นอนบนรัง ผมคิดว่านกแอ่นเหล่านี้กำลังฟักไข่ ส่วนผนังเต็มไปด้วยคราบของขี้นกแอ่นทุกด้านครับ


ภาพนกแอ่นแบบนี้คงหาดูยากครับ ความสว่างมีมาก คนก็พลุกพล่านไม่มีความสงบ ความชื้นก็ไม่ดี แต่..... มีอะไรหละครับที่ทำให้พวกนกแอ่นเหล่านี้ได้ตัดสินใจทำรังที่โบสถ์แห่งนี้ จนตัดทุกสิ่งว่ากล่าวกองไว้เลย


ได้เดินรอบ ๆ ผมเห็นมีการนำไม้รูปร่างอย่างในภาพไปแปะไว้ข้างผนังโบสถ์ ท่านดูนะครับว่านกแอ่นจะชอบไม้่รูปร่างแบบไหน อาจเป็นแนวทางในการตีไม้รังในบ้านนกแอ่นของท่านได้ครับ


ภาพต่อมาเป็นลูกนกแอ่นที่ทางเจ้าหน้าที่วัดเก็บมาเลี้ยงจากการที่ลูกนกเหล่านี้ได้ตกมาจากรัง หลาย ๆ ตัวขนกำลังขึ้น บางตัวก็ขึ้นเต็มตัวแล้ว จากจุดนี้จะนำไปสู่บทความต่อไปของผมโดยจะกล่าวถึงเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรนกแอ่น ลองติดตามกันได้นะครับ

ส่วนคำตอบสำหรับนกแอ่นกลุ่มนี้ ที่เลือกโบสถ์เป็นแหล่งขยายเผ่าพันธุ์คือ


นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

11/24/2009

การมองเห็นโอกาส (Opportunity)


มีคำถามว่าทำไมผมถึงจะทำบ้านนกแอ่น ผมได้ตอบว่าผมเห็นนกแอ่นในปริมาณที่เยอะขึ้นในพื้นที่ที่ผมจะสร้างบ้านนกแอ่นในช่วงปีหลัง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. คำตอบนอกจากเป็นช่วงฤดูฝนที่นกแอ่นกำลังขยายพันธุ์แล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่เก็บรังนกถ้ำ ทำให้นกถ้ำบินมาบริเวณที่ผมจะสร้างบ้านนกด้วย

สำหรับคนที่ไม่เห็นโอกาส นกแอ่นถ้ำ บินมาเดี๋ยวพอถึงเวลาก็บินกลับถ้ำ ไม่ใช่นกแอ่นในพื้นที่ไม่เข้าอยู่บ้านนกแน่ ๆ

สำหรับคนที่เห็นโอกาส ดีสิ ลูกนกแอ่นถ้ำได้มาสำรวจบ้านนกเราด้วย อยู่หรือเปล่าไม่รู้แต่ดีกว่าไม่บินมาสำรวจ

ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอครับ ขึ้นอยู่กับว่าท่านเลือกด้านไหนของความคิด บางครั้งการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การอ่านบทความ การหาความรู้อยู่เสมอ จะทำให้ท่านได้เห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็นก็ได้ครับ

ขอให้ท่านทั้งหลายได้เห็นโอกาสและจับจองโอกาสมาให้ได้นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

ความเอาใจใส่ของผู้ดูแล

สุดท้ายของการทำบ้านนกแอ่น คือการเอาใจใส่ของผู้ดูแล คอยสังเกตและตรวจเช็คระบบต่าง ๆ ของบ้านนกแอ่นให้อยู่ในสภาพปกติ โดยทั่วไปแล้วการเข้าบ้านนกแอ่นบ่อย ๆ ไม่ควรทำ การติดกล้องวงจรปิดจึงเป็นทางเลือกเพื่อจะได้เห็นภายในบ้านนกแอ่นโดยไม่ต้องเข้า แต่การติดกล้องแนะนำให้ติดตั้งแต่สร้างบ้านนกนะครับ เพราะถ้าท่านติดภายหลัง นกที่เข้ามาสำรวจและนอนพักบ้านนกแอ่นท่านแล้วอาจเห็นสิ่งผิดปกติที่ไม่มีในตอนแรกที่สำรวจเป็นสาเหตุให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยได้ครับ ความเชื่อเดิม ๆ จะไม่มีการเข้าบ้านนกแอ่นเป็นแรมปี แต่ปัจจุบันผมว่าการเข้าบ้านนกแอ่น 10 วันครั้งเพื่อดูแลระบบต่าง ๆ และทำความสะอาด สามารถทำได้ โดยเลือกเวลากลางวันช่วงที่นกแอ่นบินออกไปหาอาหาร คือช่วงเวลาประมาณ 9.00-15.00 น. สำหรับท่านที่ไม่มีเวลาดูแลบ้านนกแอ่นเอง ท่านต้องหาคนที่ไว้ใจได้ดูแลแทนท่านนะครับ


จบเรื่องพื้นฐานของการทำบ้านนกแอ่น หากท่านสามารถสร้างบ้านนกแอ่นได้ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวมาในบทความที่ผ่าน ๆ ท่านก็ลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งครับ หากแต่การทำบ้านนกแอ่นนั้นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือ นกแอ่น ครับ ท่านจงทำใจเผื่อไว้ด้วย ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ อาจต้องพึ่งโชคบ้าง แต่การลงมือทำด้วยความรู้ ย่อมดีกว่าการลงมือทำเพื่อรอโชคอย่างเดียวครับ

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

ระบบเสียงของบ้านนกแอ่น


ถ้าท่านได้มาถึงขั้นตอนนี้แล้ว บ้านนกแอ่นท่านได้เดินหน้ามาจนถึงจุดที่จะเปิดบ้านเรียกนกแอ่นให้เข้ามาสำรวจแล้วครับ สำหรับบ้านนกแอ่นใหม่จำเป็นต้องใช้เสียงเพื่อดึงดูดให้นกแอ่นได้บินเข้ามาสำรวจบ้านนกแอ่นที่ท่านได้สร้างขึ้น ซึ่งนกแอ่นที่บินเข้ามาสำรวจจะมีทั้งนกแอ่นที่มีบ้านแล้ว และนกแอ่นที่ยังเป็นลูกนกที่ได้บินตามฝูงออกมาหากิน ลูกนกแอ่นเหล่านี้แหละครับเป็นเป้าหมายของท่าน สำหรับเสียงเรียกนกแอ่นตอนนี้มีมากมายครับให้ท่่านได้เลือกใช้ มีราคาตั้งหลักร้อยจนถึงหลักหมื่นครับ เสียงคุณภาพดีก็จะมีราคาแพง แต่ถ้าดีจริงก็คุ้มครับที่ท่านจะลงทุน

ระบบเสียงของบ้านนกแอ่นจะประกอบด้วย ตัวรับสัญญาณเสียงปัจจุบันก็คือเครื่องเล่นซีดี ใหม่ ๆ ก็สามารถเล่น MP3 ได้ครับ ส่วนต่อมาคือแอมป์ ราคาก็มีมากมายครับ ตั้งแต่หลักพันต้น ๆ ถึงหลักหมื่นครับ (ปัจจุบันแอมป์จะมีช่องเสียบ USB เครื่องเล่นซีดีก็ไม่ต้องใช้แล้วครับ)
ตัวต่อมาคือลำโพงครับ จะแบ่งเป็นลำโพงนอกและลำโพงในครับ สำหรับลำโพงต้องเป็นลำโพงเสียงแหลมนะครับ ลำโพงนอกราคาก็มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน ลำโพงในก็หลักสิบถึงหลักร้อยครับ ถ้าท่านพอมีเวลาก็ลองเดินบ้านหม้อได้ครับ ร้านไหนถูกหรือแพงก็ขึ้นกับการต่อรองของผู้ซื้อด้วย หากไม่ต่อรองราคารับรองครับ ท่านซื้อของได้แพงกว่าที่ควรจะได้แน่ ๆ สำหรับสำโพงการติดคอนเดนเซอร์ที่ขั้วบวกจำเป็นครับ เพื่อให้เสียงที่ออกมาจากสำโพงใส ไม่มีสัญญานแทรก ในบ้านเรายังไม่มีลำโพงหรือแอมป์ที่ทำสำหรับบ้านนกโดยเฉพาะ ผมมีเพื่อนที่เป็นชาวมาเลย์ เค้าบอกว่าลำโพงนอกที่มาเลย์โดนฝนไม่เป็นไรครับ ทำมาสำหรับบ้านนกโดยเฉพาะ หากผมทราบราคาและรายละเอียดแล้วจะเขียนในบทความต่อ ๆ ไปนะครับ ส่วนสำคัญอีกอย่างเรื่องระบบเสียงคือสายลำโพงครับ แนะนำว่าเอาสายใหญ่ไว้ก่อนนะครับ เดินสายแล้วถ้าสายเล็กไปเกิดสัญญาณเสียงไม่ดี แก้ที่หลังงานหนักครับ

สำหรับบ้านนกแอ่น การติดลำโพงภายในยิ่งมากยิ่งดีครับ ในบทความบางบทความได้บอกถึงการติดลำโพงหนึ่งตัว ท่านจะได้นกแอ่นหนึ่งคู่ หากท่านติดลำโพงสองร้อยตัวนกแอ่นจะมาทำรังบริเวณลำโพงก่อนสองร้อยคู่ เป็นตัวเลขที่ดูแล้วคุ้มการติดลำโพงในจริง ๆ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

ศัตรูต่าง ๆ ของนกแอ่น

นกแอ่น(swiftlet) เป็นนกที่มีขนาดเล็ก การที่่่ท่านสร้างบ้านนกแอ่นได้ตามพื้นฐานแล้ว การดูแลความปลอดภัยให้นกแอ่นก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ เพราะการที่นกแอ่นรู้สึกถึงความปลอดภัยในที่พักอาศัย พวกเค้าจะไม่ไปจากท่านแน่ ๆ และยังจะทำรังและขยายเผ่าพันธุ์ให้ท่ีานเป็นการตอบแทนที่ท่าน ๆ ได้ดูแลพวกเค้าเป็นอย่างดี ในที่นี้ศํตรูที่ว่ามีทั้งทำลายชีวิตและก่อให้เกิดความรำคาญ โดยพอจะสรุปได้ดังนี้ครับ

1.นกผู้ล่า นกในกลุ่มนี้ได้แก่นกแสก นกฮูก นกพวกนี้จะออกหากินเวลากลางคืน หากนกพวกนี้ได้เข้าไปบ้านนกแอ่นของท่านแล้ว บอกได้คำเดียวครับ งานนี้นกแอ่นในบ้านต้องโดนสอยบ้างแน่ ๆ บ้านนกแอ่นหลาย ๆ ที่ต้องทำตะแกรงเหล็กปิดทางเข้าบ้านนกแอ่น โดยที่นกแอ่นสามารถบินเข้าได้ แต่นกขนาดใหญ่จะบินเข้าไม่ได้หรืือการทำตะแกรงเลื่อนปิด โดยตั้งเวลาให้มาปิดทางเข้าหลังนกแอ่นเข้าบ้านหมด เพราะนกผู้ล่าเหล่านี้จะมาบ้านนกแอ่นท่านประมาณเที่ยงคืนครับ อีกวิธีที่ผู้ประกอบการบ้านนกแอ่นได้คิดขึ้นมาคือการติดไฟหน้าทางเข้าของบ้านนกแอ่น เพราะนกผู้ล่าเหล่านี้่จะไม่ชอบแสงสว่าง แต่ขอบอกนะครับนกพวกนี้จะไม่ชอบต้องเป็นแสงระดับสปอร์ตไลท์ ไฟนีออนคงจะไม่กลัวครับ

2.ตุ๊กแก เจ้าจิ้งจกยักษ์เป็นศัตรูตัวเก่งอีกตัวครับ ถ้าเห็นในบ้านนกแอ่นต้องรีบกำจัดออกจากบ้านนกแอ่นโดยเร็วครับ เพราะเจ้าตุ๊กแกนี้จะกินไข่ของนกแอ่น เคยฟังเรื่องตุ๊กแกที่อยู่ที่บ้านนกแอ่นที่เป็นบ้านไม้เพราะเป็นที่มีที่ให้ตุ๊กแกหลบได้ดี ออกมากินไข่และลูกนกจนทำให้บ้านนกแอ่นหลังนั้นนกแอ่นย้ายออกไปเกือบหมด ปัจจุบันไม่รู้ว่านกเริ่มกลับมาอยู่อีกหรือไม่

3.ตัวไร เป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่ก่อให้เกิดความรำคาญเพราะจะไปดูดเลือดนกแอ่น ทำให้นกแอ่นไม่ชอบและยังทำให้ลูก ๆ อาจโตได้ไม่เต็มที่ ส่วนบ้านนกหลังไหนตัวไรมาก ไปอาศัยอยู่ที่รังนกเยอะก็จะถูกกดราคาได้ครับ อีกทั้งยังทำให้ท่านซึ่งเป็นเจ้าของโดนดูดเลือดไปด้วย ดังนั้นการหมั่นดูแลทำความสะอาดขี้นกเป็นสิ่งจำเป็นครับ จะทำให้ตัวไรในบ้านนกท่านน้อยลง ได้รังนกที่มีคุณภาพครับ

4.แมลงสาป เป็นสัตว์ที่มีความเป็นมายาวนานมากและถ้าเกิดสงครามโลก มีการถล่มนิวเคลียร์เจ้าสัตว์นี้แหละครับที่จะรอดสืบพันธุ์ต่อไป แมลงสาปพวกนี้จะไปกัดกินที่รังนกแอ่นของท่านครับ รังที่โดนแมลงสาปกัดกินจะไม่ได้ราคาที่ดีครับ ดังนั้นการป้องกันแมลงสาปไม่ให้เข้าบ้านนกแอ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ ท่านต้องดูแลตรงช่องระบายอากาศ และท่อน้ำทิ้งให้ดีครับ อย่าให้แมลงสาปเข้ามาได้

5.มด เป็นสัตว์ตัวเล็กที่จะทำร้ายลูกนกแอ่นในบ้านนกแอ่นของท่านถึงความตายได้เช่นกันครับ การหมั่นตรวจสอบรอบ ๆ ตัวบ้านนกแอ่น จะเป็นการป้องกันไม่ให้มดบุกเข้าบ้านนกแอ่นท่านครับ

นกแอ่นจะเลือกที่อยู่อาศัยที่พวกเค้าคิดว่าปลอดภัย หากบ้านนกแอ่นท่านมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ท่านคิดว่าส่งผลถึงความปลอดภัยของนกแอ่นแล้ว ขอให้ท่านลดหรือขจัดปัจจัยเหล่านั้นให้หมดหรือให้ลดน้อยที่สุด เพียงเท่านี้นกแอ่นก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฎิเสธบ้านนกแ่อ่นที่ท่านได้สร้างเรื่องความปลอดภัยแล้วครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/23/2009

ทดสอบเรียกนกแอ่นชุด 2 (Bird Call Tests)

วันนี้มาดูวิดิโอภาพทดสอบเรียกนกแอ่น(Bird Call Tests) ชุดที่ 2 กันนะครับ วันที่ผมได้ทำการทดสอบเรียกนกแอ่น (Swiftlet) อากาศกำลังดีครับ เวลาประมาณ 17.30 น. มีเมฆบนท้องฟ้าบางส่วน บริเวณที่ได้ทำการทดสอบเรียกนกครั้งนี้ก็เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่ผมคิดว่าจะสร้างบ้านนกแอ่นหลังที่สอง

ชุดแรกนกแอ่นยังบินค่อนข้างสูงครับ



ชุดที่สองนกแอ่นเริ่มบินลงมาใกล้มากขึ้น



ชุดที่สามผมได้เข้าไปยืนใกล้ ๆ รถของผมที่ได้เปิดเสียงเรียกนกแอ่น นกแอ่นบางตัวบินผ่านหน้ากล้องเลยครับ



ก่อนการทดสอบเรียกนกแอ่นชุดนี้ ผมเห็นนกแอ่นอยู่บนท้องฟ้าอยู่ 2-5 ตัวครับ แต่หลังจากเปิดเสียงเรียกได้ประมาณ 5 นาที จำนวนนกแอ่นที่ให้การตอบรับกับเสียงเรียกนกแอ่นก็ได้มาที่รถอย่างรวดเร็วครับ วันนี้ผลการเรียกนกแอ่นถือว่าดี ผมนับนกแอ่นได้ประ 100 ตัวขึ้นแน่ ๆ ครับ

อย่าลืมนะครับ ท่านใดสนใจนกแอ่น บ้านนกแอ่น คอนโดนกแอ่น รังนกแอ่น ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดและไม่ได้เป็นตามทฤษฎีทุกเรื่องนะครับ ผมจะเขียนหลังจากได้เขียนหลักการพื้นฐานในการสร้างบ้านนกแอ่นเสร็จ คอยติดตามนะครับ

ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ Location สำคัญอันดับแรก ขอให้ท่านคิดไว้เสมอ ถ้า Location ไม่เหมาะสม แต่ท่านเชื่อว่าท่านได้อ่าน ทฤษฎี มาหมดแล้ว และท่านเชื่อทุกอย่าง ความเสี่ยงของท่านผมบอกได้เลยครับ คูณสอง จากที่ท่านคิดแน่ ๆ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/16/2009

วิธีการเก็บรังนกแอ่น

วิธีการเก็บรังนกแอ่น (Nest) การเก็บรังนกแอ่นจากบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) จะแตกต่างจากการเก็บรังนกแอ่นถ้ำ ขอให้ท่านเข้าใจว่าการเ็ก็บรังนกแอ่นถ้ำจะทำเป็นฤดูกาล การเก็บแต่ละครั้งจึงได้รังที่นกแอ่นที่มีลูกนกออกจากรังนกไปแล้ว และรังนกแอ่นที่นกแอ่นยังไม่ได้วางไข่เพราะเพิ่งทำรังเสร็จ นกแอ่นเป็นนกที่สามารถทำรังทดแทนรังเก่าทันที หากรังถูกเก็บไป แต่ต้องก่อนที่นกแอ่นจะวางไข่ วิธีการเก็บก็อันตรายกว่าการเก็บรังนกแอ่นจากบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) สีของรังนกก็จะมีหลายสีขึ้นกับแร่ธาตุที่ได้ละลายออกมาจากถ้ำที่นกแอ่นได้ทำรัง ดังนั้นรังนกแอ่นถ้ำจึงมีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ราคาก็จะแพงกว่าเพราะความเสี่ยงมากกว่าครับ



ส่วนวิธีการเก็บรังนกแอ่นจากบ้านนกแอ่น สามารถทำได้โดยใช้ไฟสวมหัว ,เกรียงสำหรับเซาะรังนกแอ่น และบันไดตามความสูงของบ้านนกแอ่นที่ท่านได้สร้างขึ้น การเก็บรังนกแอ่นจะเก็บหลังจากที่ลูกนกแอ่นได้บินออกจากรังไปกับฝูงพ่อแม่นกแอ่นเพื่อหาอาหาร โดยการเก็บรังนกแอ่นนั้นต้องเก็บหลังจากลูกนกแอ่นบินออกจากรังไม่นาน เพราะถ้าท่านไม่รีบเก็บ พ่อแม่นกแอ่นก็จะกลับมาวางไข่ที่รังนกเดิม ทำให้รังนกแอ่นคุณภาพน้อยลง

ถามว่าทำไมเมื่อนกแอ่นสามารถทำรังทดแทนรังเดิมได้ถึงสามครั้ง เราน่าจะเก็บรังนกแอ่นที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ดีกว่าหรือ นกแอ่นวางไข่ปีละ 3 รอบ เราก็เก็บรังนกแอ่นได้ 9 รอบสิ สะอาดก็สะอาดกว่า ได้ก็เยอะกว่า แต่เนื่องจากบ้านนกแอ่นที่ท่านสร้างขึ้นต้องการให้ปริมาณนกเพิ่มขึ้น การให้นกแอ่นได้ฟักไข่ การได้ลูกนกสำคัญกว่านะครับสำหรับระยะยาว และผมคิดว่าไม่เป็นการเอาเปรียบนกแอ่นมากเกินไปด้วยครับ นกแอ่นเค้าก็ต้องการขยายเผ่าพันธุ์ เค้าสร้างรังนกเพื่อจะได้เลี้ยงลูกของเค้า เค้าคงไม่อยากให้ท่านเก็บรังนกที่เค้าได้ทุ่มแรงในการสร้างก่อนที่ลูก ๆ ของเค้าได้บินออกจากรัง เพื่อกลับมาสร้างรังนกที่บ้านนกแอ่นของท่านอีกนะครับ

บ้านนกแอ่นที่นกแอ่นได้ตัดสินใจอยู่ นกแอ่นคิดว่าเป็นที่ปลอดภัยเพื่อให้เค้าขยายเผ่าพันธุ์นะครับ ท่านอย่าลืมข้อนี้นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/14/2009

วัสดุที่ใช้ตีรัง (Nesting Plank)


วัสดุที่ใช้ตีรัง (Nesting Plank) นิยมใช้ไม้ที่ไม่มีกลิ่น มีความแข็งระดับปานกลางครับ ไม้ที่ว่านี้คือไม้สยาหิน หรือไม้สยาแดง ครับ ปัจจุบันหายากมาก สำหรับในมาเลเซีย เรียก Meranti ผมมีเพื่อนที่ทำร้านขายไม้อยู่ได้บอกว่าตอนนี้ไม้สยาแดง โดนพวกนายทุนในกรุงเทพซื้อไปทำวงกบประตู หน้าต่าง ทำให้ไ้ม้ขาดตลาด ไม้ที่ได้มาจึงโดนสวมครับ เพราะคนซื้อก็ไม่รู้ว่าหน้าตาไม้สยาแดงเป็นยังไง เพื่อนผมคนนี้ได้แนะนำไม้ เสี่ยช่อ เป็นตัวเลือกที่ทดแทนไม้สยาแดงครับในปัจจุบัน มีบ้านนกแอ่นหลายหลังได้นำไม้เสี่ยช่อไปตีไม้รังแล้ัวได้ผลครับ นกแอ่นทำรัง

ไม้ที่จะนำมาตีรังให้นกแอ่น ควรมีความหนา 1 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว หรือ 8 นิ้ว ก็ได้ครับ มีการเซาะร่อง กว้าง 2 มิลลิเมตร ลึก 2 มิลลิเมตร เพื่อให้นกแอ่นเกาะได้ง่ายครับ จำนวนร่องที่เซาะก็ตั้งแต่สามร่องถึงสิบร่องก็ได้ครับ แล้วแต่ความชอบของท่าน ยิ่งมากยิ่งดีครับ นกแอ่นจะได้เกาะได้สะดวก

รูปแบบการตีไม้รังในบ้านนกแอ่นนั้น นิยมความกว้าง 35-40 cm(ไม้ขวาง) ความยาว 1 เมตร(ไม้ยาว) ต่อ 1 ช่องครับ ความกว้างที่นำมาใช้จากที่ผมได้อ่านมาคงเป็นเพราะนกแอ่นเวลากางปีกจะมีความยาวตั้งแต่ปลายปีกซ้ายถึงปลายปีกขวาประมาณ 15 cm ดังนั้นจะมีนกบินเข้ารังได้ 2 ตัวในแนวเดียวกัน โดยปีกไม่โดนกัน เป็นขนาดที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดในการตีไม้รังให้นกแอ่นทำรังครับ ส่วนภาพการตีไม้รังผมจะนำมาลงให้อีกครั้งครับ เป็นภาพจากบ้านนกแอ่นที่ผมจะได้เป็นเจ้าของครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

ขนาดของบ้านนกแอ่น (Size of Swiftlet House)

บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ควรมีขนาดเท่าไหร่จึงเหมาะสม คำตอบก็ขึ้นอยู่กับงบในกระเป๋าของท่านเองครับ แต่บ้านนกแอ่นหลังใหญ่ก็ต้องอยู่ในสถานที่ตั้งที่เหมาะสมนะครับ Location ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยแรกที่สำคัญมาก ๆ

มาดูขนาดบ้านนกแอ่นกันครับ ความกว้างอย่างน้อยต้อง 4 เมตร น้อยกว่านี้ท่านอย่าได้คิดทำนะครับ ไม่งั้นเหนื่อยแน่ ๆ ความกว้างได้ยิ่งมากยิ่งดี (นึกถึงถ้ำที่นกแอ่นอยู่ได้ครับ) เสากลางก็ไม่ควรจะมีครับ นกแอ่นที่กำลังหัดบินจะหลบไม่ทัน เดี๋ยวหัวโน ครับ แต่ถ้ากว้างเกิน 6 เมตร คานก็จะใหญ่มากต้นทุนก็สูงตามไปด้วย อย่างในประเทศมาเลเซียจะสร้างกันที่ ความกว้าง 4-6 เมตร ความยาวก็ตั้งแต่ 12-24 เมตร จะสร้าง 2 หรือ 3 ชั้นก็ได้ครับ ส่วนความสูงของแต่ละชั้น เพื่อความสะดวกความสูง 3 เมตรดีที่สุดครับ ง่ายในการเก็บรังนกแอ่น แต่ผมได้ทราบมาว่าบ้านนกแอ่นที่มีความสูงน้อย รังนกแอ่นที่เก็บได้ก็จะมีขนาดเล็ก ตรงนี้ผมคงต้องลองดูครับว่าจริงหรือเปล่า ส่วนบ้านนกแอ่นที่ผมจะสร้างเลือกความสูงในแต่ละชั้น 3.5 เมตรครับ

บทความหลาย ๆ บทความได้พูดถึงการสร้างบ้านนกแอ่นเพื่อลดความเสี่ยง ความเสี่ยงที่ว่านี้คือ หากท่านมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ท่านอาจสร้างบ้านนกแอ่นหลังใหญ่ได้หนึ่งหลัง แต่ความเสี่ยงก็มากครับ ถ้านกแอ่นเข้าช้า แต่หากท่านนำเงินที่มีอยู่มากระจายสร้างบ้านนกแอ่นเป็นสองหรือสามหลัง เป็นหลังเล็ก ๆ ในคนละพื้นที่กัน หากนกแอ่นเข้าอยู่หลังใดหลังหนึ่งอย่างรวดเร็ว ท่านก็จะมีรายได้เลี้ยงบ้านนกแอ่นที่เหลือของท่านได้อย่างสบายครับ

นกแอ่นเป็นนกที่ชอบบินเล่น วงบินของนกแอ่นเป็นสิ่งสำคัญ จงสร้างบ้านตามใจผู้อยู่นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/10/2009

ขนาดของทางเข้า-ออก(In-Out hole)

บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) จะมีการออกแบบสร้าง เป็นสามส่วนหลัก ๆ คือ

1.ช่องทางเข้า (In - Out hole, Entrance hole)
2.พื้นที่ให้นกแอ่นบินเล่น (Swiftlet roving area)
3.พืนทีี่ให้นกแอ่นทำรัง (Swiftlet nesting area)

สำหรับช่องทางเข้าออกนั้น ปัจจุบันได้มีการสร้างให้นกเข้าด้วยกัน 3 แบบ คือ

1.ช่องทางเข้าแบบคอกสุนัข (Dog kennel) จะออกแบบเป็นหอยื่นสูงขึ้นไปจากตัวบ้านนกแอ่น เพื่อรับนกให้บินเข้ามาภายในบ้าน แต่ท่านต้องระวังเรื่องขนาดของคอกด้วยนะครับ อย่าให้เล็กเกินไปเพราะนกแอ่นไม่ชอบแน่ ๆ ครับ หากเค้าบินเข้ามาเพื่อจะสำรวจบ้านแล้วทางเข้าไม่ดี เปรียบเหมือนท่านไปพักโีรงแรมห้าดาว แต่เจอการต้อนรับแบบน่าผิดหวัง ต่อให้ห้องพักดียังไง ท่านก็คงไม่กลับไปพักอีกแน่ ๆ

2.ช่องทางเข้าแบบหน้าต่าง (Window style) เป็นช่องทางเข้าที่เปิดข้างกำแพงบ้านนกโดยตรง ไม่ได้ทำหอสูงขึ้นไป เหมาะสำหรับอาคารหรือตึกที่มีความสูงอยู่แล้วครับ

3.ช่องทางเข้าแบบเปิดหลังคา (Open rooftop style) เป็นการเปิดช่องให้นกแอ่น บินลงเข้าบ้านจากด้านบน การเปิดช่องทางเข้า - ออก แบบนี้จะดูจากด้านนอกไม่ได้ การเปิดเสียงเรียกนกแอ่นก็จะเปิดขึ้นท้องฟ้า ถ้าข้าง ๆ บ้านนกแอ่น ที่ท่านจะทำมีคนอยู่ ก็จะไม่รบกวนข้างบ้าน ผมว่าเลือกแบบสุดท้ายนี้ดีที่สุดครับ อย่าให้ปัญหาเรื่องเสียงมาทำให้บ้านนกแอ่นท่านมีปัญหาโดนร้องเรียน เปิดเสียงเรียกอย่าให้ดังเกินไป เลือกวิธีให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดปัญหาที่จะตามมาได้เยอะครับ

ขนาดของช่องทางเข้า - ออก นั้น ถ้าเป็นบ้านใหม่ หลังไม่ใหญ่มากทำขนาด 40x80 cm ก็พอครับ ช่องทางเข้า - ออก ไม่ควรหันไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก ท่านคิดไว้เสมอนะครับว่าถ้าเราเป็นนกแอ่น เราจะชอบแบบไหน ถ้าช่องทางเข้า - ออก ใหญ่เราบินได้สบาย อย่ากังวลเรื่องแสงที่จะเข้าบ้านนกจนทำช่องทางเข้า - ออกเล็ก จนนกแอ่นบินไม่สะดวกนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/08/2009

นกแอ่นที่เมืองตรัง


วันนี้ได้มาที่จ.ตรัง เป็นช่วงเวลาหลังฝนตก เห็นนกแอ่นบินอยู่บ้างเลยลองเรียกดูหน่อยด้วยอุปกรณ์ติดรถ


ภาพแรกเป็นบริเวณที่ผมเรียกนกแอ่น ทำเลดีจริง ๆ เป็นถิ่นหากินที่นกแอ่นออกมาหาอาหาร ไม่ไกลจากอำเภอเมืองที่มีการทำบ้านนกอยู่มากนัก

พอเปิดเสียงเรียก นกแอ่นหันมาสนใจ " ใครเรียกเราหว่า "




นกแอ่นยังอยู่สูง ภาพที่ได้ยังไม่ค่อยชัดครับ รอให้ลงมาใกล้กว่านี้ต้องขอชัด ๆ หน่อย

เริ่มใกล้มาอีกนิดหละ


นกแอ่นบางส่วนลงมาถึงรถแล้วครับ


นกแอ่นลงมาต่ำขนาดนี้ ต้องขอเก็บภาพชัด ๆ ให้ท่านได้ดูแบบเต็ม ๆ ให้ได้



กล้องที่ผมใช้คงได้เต็มที่เท่านี้ครับ กดไปเป็นร้อย ได้ภาพที่พอดูได้ให้ท่้่านได้ชมก็ประมาณนี้ครับ

ส่วนภาพเคลื่อนไหวจะลงให้ดูต่อไปนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/07/2009

แสงสว่าง (Lighting)

ผมได้กล่าวถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นไปแล้ว คือ ทำเลที่ตั้งบ้านนกแอ่น อุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่น ต่อจากนี้จะเป็นปัจจัยรองลงมาแต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน สำหรับการทำบ้านนกแอ่น(Swiftlet House)ให้ประสบความสำเร็จ

แสงสว่าง (Lighting) ในบ้านนกแอ่นควรมีค่าความสว่างไม่เกิน 2-3 ลักซ์ ความสว่างที่ว่านี้เรียกว่า มืด เลยก็ว่าได้ครับ เนื่องจากนกแอ่น (Swiftlet) ชอบแสงสว่างน้อย ๆ บริเวณที่ทำรัง เพราะนกแอ่นจะรู้สึกปลอดภัย ถ้าบ้านนกแอ่นมีแสงสว่างเข้าไปมาก นกที่ชอบคือ นกนางแอ่น(Swallows) เป็นนกที่ชอบแสงสว่างมากกว่า นกแอ่น แต่ไม่ใช่นกที่ท่านต้องการเลี้ยงนะครับ

การควบคุมแสงสว่างในบ้านนกแอ่นจะเริ่มตั้งแต่ช่องทางบินเข้า-ออกของบ้านนกแอ่น หลังจากที่นกบินเข้ามาในบ้าน จะเป็นห้องดักแสงและเป็นห้องสำหรับให้นกบินเล่น (Roving Area) ต่อมาจึงเป็นห้องสำหรับให้นกแอ่นทำรัง ซึ่งแสงสว่างจะเข้ามาถึงห้องนี้ได้น้อย หากว่าแสงสว่างเข้ามายังห้องสำหรับใ้ห้นกแอ่นทำรังมากอยู่แแสดงว่าบ้านนกแอ่นของท่านยังควบคุมเรื่องแสงไม่ดีพอ

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

10/06/2009

ความชื้นในบ้านนกแอ่น (Humidity in Swiftlet House)



บ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ควรมีความชื้น (Humidity) ที่ 75%-85% ที่มาของความชื้นที่เหมาะสมนี้มาจากการศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยในถ้ำตามธรรมชาติอีกเช่นกัน สำหรับบ้านนกแอ่น ความชื้นจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิเพราะถ้าการควบคุมความร้อนไม่ดี ทำให้อากาศภายในบ้านนกแอ่นมีอุณหภูมิสูงกว่า 30'C การระบายอากาศร้อนภายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออากาศภายนอกเข้ามาเพื่อระบายความร้อนภายในบ้านนกแอ่น ความชื้นภายในก็จะลดลงตามไปด้วย

แต่หากว่าความชื้นสูงกว่า 85% วัสดุที่เป็นไม้ตีรังจะเกิดเชื้อรา ทำให้นกแอ่นไม่ทำรังและจะเป็นสาเหตุให้นกแอ่นไปหาบ้านใหม่เป็นแหล่งพักพิงได้นะครับ


ทำไมบ้านร้างจึงมีนกแอ่นเข้าไปทำรัง เพราะบ้านเหล่านี้มีการปิดบ้านเป็นเวลานานทำให้ความชื้นภายในบ้านร้างเหล่านั้นใกล้เคียงกับถ้ำตามธรรมชาติที่นกแอ่นเคยอยู่ เมื่อนกแอ่นได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจภายในบ้าน นกแอ่นที่ยังไม่ได้ตัดสินใจอยู่ที่ไหน (ลูกนกแอ่นที่เพิ่งบินตามพ่อแม่นกแอ่นออกมาหากินกับฝูง) ก็มีโอกาสตัดสินใจเลือกบ้านร้างเหล่านั้นเป็นบ้านถาวรได้ ท่านลองคิดดูขนาดบ้านร้างนกแอ่นยังเข้าไปอยู่แล้วบ้านนกแอ่นที่ เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ตั้งใจสร้างให้พวกเค้าอยู่ย่อมมีโอกาสมากกว่า ถ้า่ท่านเข้าใจพวกเค้าเพียงพอ

การเพิ่มความชื้นภายในบ้านนกแอ่นสามารถทำได้โดยใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifier) หรือการกักเก็บน้ำไว้ภายในบ้านนกแอ่น แต่ระวังเรื่องน้ำรั่วด้วยนะครับ เีดี๋ยวไม้ตีรังจะเกิดเชื้อราก่อนที่นกแอ่นจะทำรังให้ท่านนะครับ

จงอย่ามองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งที่่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนกแอ่นได้นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/05/2009

อุณหภูมิในบ้านนกแอ่น (Temperature in Swiftlet House)

บ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ควรมีอุณหภูมิเท่าไหร่จึงเหมาะสม คำตอบเรื่องนี้จริง ๆ แล้วนกแอ่นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงอุณหภูิมิกว้างพอสมควร แต่ที่เหมาะที่สุดคือ 27-29 'C ถ้าปกติบริเวณถ้ำตามธรรมชาติที่นกแอ่นอาศัยอยู่จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 28'C การทำบ้านนกแอ่นจึงต้องควบคุมอุณหภูมิให้ดี ๆ คิดว่าทุ่มทุนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ เลยก็จะดีมาก ๆ เพราะ้ถ้าเกิดอุณหภูมิสูงเกิน 30'C แล้ว มาแก้ที่หลังเจองานช้างแน่ ๆ ครับ แก้ได้ก็ดีไปแต่เสียเวลาครับ เอาเวลามานั่งนับนกแอ่นบินเข้าบ้านดีกว่า

บริเวณใดที่ต้องควบคุมอุณหภูมิบ้าง
1.ดาดฟ้า จุดนี้สำคัญที่สุดครับเพราะเป็นบริเวณที่รับแสงจากดวงอาทิตย์ทั้งวัน ถ้าฉนวนไม่ดีพอจะทำให้บ้านนกแอ่นชั้นบนสุดมีอุณหภูมิสูงได้ ดาดฟ้าถ้ามีหลังคาคลุมอีกชั้นจะดีมาก ๆ โดยให้ลมเป็นตัวถ่ายเทความร้อนของอากาศระหว่างหลังคาและดาดฟ้า
2.ผนังด้านที่รับแสง ในที่นี้คือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก อาจใช้วิธีการก่อกำแพงสองชั้น, ใช้อิฐมวลเบา, หรือฉนวนมากั้นความร้อนไม่ให้ผ่านเข้าไปต้านในบ้านนกแอ่น จะเลือกวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวอาคารและงบประมาณครับ
3.ผนังด้านที่ไ่ม่ได้รับแสงตรง ๆ ในที่นี้คือทิศเหนือและทิศใต้ สองด้านนี้ไม่ค่อยจำเป็นนัก

บ้านนกแอ่นที่ดีควรมีอุณหภูมิแตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนไม่เกิน 3-4'C

นกแอ่นออกบินหากินทั้งวันแล้ว เมื่อกลับมาบ้านก็อยากพักผ่อนในบ้านที่เย็นสบาย กลางวันก็อยากให้ไข่และลูกนกแ่อ่นไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ถ้าทำได้บ้านนกแอ่นของท่านก็เหมือนโรงแรมห้าดาวของนกแอ่นแล้วครับ ไม่จองล่วงหน้าไม่มีที่ว่าง นกแอ่นต่อคิวจองยาวแน่ ๆ ครับ

เห็นภาพห้องพักด้านบนแล้วผมอยากนอนพักในห้องนี้ทั้งวันเลย หากท่านสร้างบ้านนกแอ่นแล้วนกแอ่นเกิดความรู้สึกแบบที่ผมรู้สึกกับห้องพักด้านบนได้ ท่ีานสอบผ่านแน่ ๆ ครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

การเลือกทำเลสร้างบ้านนกแอ่น (Location of Swiftlet House)



ปัจจัยแรกที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างบ้านนกแอ่น(Swiftlet House) คือ การเลือกทำเลที่ตั้ง (Location) เพราะถ้าท่านสร้างบ้านนกแอ่นได้สมบูรณ์แบบมาก ๆ แต่เลือกทำเลผิด โอกาสที่ท่านจะล้มเหลวก็มีสูงมากครับ ประเทศไทยถือว่าโชคดีที่มีภูมิอากาศเหมาะสมในการขยายพันธุ์ของนกแอ่นรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านคือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ทำเลที่ตั้งที่ท่่านต้องนึกถึงต้องประกอบด้วยพื้นที่ลุ่ม นาข้าว หรือพืชที่สูงไม่เกินสองเมตร ประมาณ 60% และ มีแหล่งน้ำและพืชที่สูงมากกว่าสองเมตรอีกประมาณ 40% จากที่ผมได้ศึกษามา นกแอ่นจะบินหากินในรัศมี 25 กิโลเมตร คราวนี้ท่านก็ดูว่าในรัศมี 25 กิโลเมตร มีบ้านนกแอ่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเทียบกับแหล่งอาหารที่มีอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าพื้นที่นั้น ๆ จะรองรับนกแอ่นได้กี่ตัว และในพื้นที่ต่างกันที่มีภูมิศาสตร์เหมือนกันก็จะรองรับจำนวนนกแอ่นได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ที่มีความสมบูรณ์มากกว่าก็จะรองรับนกแอ่นได้มากกว่า ดังนั้นจำนวนบ้านนกแอ่นก็จะสามารถสร้างได้มากขึ้นด้วย เราจึงต้ัองช่วยกันรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์มาก ๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้นกแอ่นนะครับ หากบริเวณใดแหล่งอาหารไม่เพียงพอสำหรับจำนวนนกแอ่น นกแอ่นก็จะอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ไม่แน่นะครับนกแอ่นจากประเทศเพื่อนบ้านอาจบินอพยพมายังบ้านนกแอ่นที่ท่านกำลังสร้างก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ ท่านดูนกแอ่นและสภาพความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ของท่านเองก่อนดีที่สุดครับ

การนำแบบบ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จจากที่หนึ่ง ไปสร้างในอีกที่หนึ่งที่ภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกันอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จรวดเร็วเหมือนที่คิด เพราะยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ที่เป็นปัจจัยย่อยให้ท่านคอยสังเกต เจ้าของบ้านนกแอ่นจึงควรหมั่นศึกษาและจดบันทึกเพื่อจะได้นำความรู้ที่ท่านได้มาช่วยกันต่อยอดการทำบ้านนกแอ่นให้ประสบความสำเร็จให้สูงที่สุด

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.taklong.com/

10/01/2009

ทดสอบเรียกนกแอ่น (Bird Call Tests)



วิดิโอคลิป ทดสอบเรียกนก 1

การทดสอบเรียกนกแอ่น(Bird Call Testes) เป็นการทดสอบเรื่องสถานที่ตั้งของบ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ที่กำลังจะสร้างว่าท่านมีโอกาสประสบความสำเร็จเร็วมากน้อยเพียงใด ถ้าสถานที่ท่านเลือกเป็นจุดศูนย์กลางของนกแอ่น การทดสอบคงไม่จำเป็นนัก หรือจะทำเพื่อลองดูว่านกแอ่นให้การตอบรับกับเสียงเรียกของท่านหรือไม่ก็ได้ แต่ถึงไม่เรียกเราก็เห็นจำนวนนกแอ่นที่บินอยู่แล้ว แต่สำหรับในบริเวณที่ยังไม่มีบ้านนกแอ่น และัห่างจากจุดศูนย์กลางของแหล่งที่อยู่อาศัยของนก การทดสอบเรียกจึงจำเป็นที่ต้องกระทำก่อนการสร้างบ้านนกแอ่นนะครับ การทดสอบเรียกนกแอ่นนั้น ต้องทำหลาย ๆ วัน เพราะอากาศและเวลาในการเรียกนกแอ่นในแต่ละวันนั้นมีผลต่อจำนวนนกแอ่นที่จะมาแสดงตัวให้เราเห็นแน่ ๆ ครับ



วิดิโอคลิป ทดสอบเรียกนก 2

โดยเวลาที่จะทำการทดสอบเรียกนกแอ่นนั้น สามารถทำได้ทั้งวัน แต่จะให้ผลดีที่สุดเวลาประมาณ 16.30-17.30 น. ในแต่ละวันและในแต่ละครั้งควรเรียกประมาณ 20-25 นาที เว้นแต่วันนั้นฝนตกหนักอากาศครื้ม นกแอ่นก็จะออกหากินไม่ไกลจากที่พักมากนัก ถ้าฝนตกตอนเย็น นกแอ่นก็จะบินกลับบ้านเร็วเช่นเดียวกันครับ ซึ่งในสภาวะปกติถ้าเราเรียกนกแอ่นหลัง 17.30 น. จะได้เห็นนกแอ่นบินมาแล้วก็ไปเร็วเพราะใกล้มืดแล้ว นกแอ่นจะรีบกลับบ้านไปจู๋จี่กับคู่แล้วหลังจากบินกันมาทั้งวัน สำหรับผมแล้วการเรียกนกแอ่นในบริเวณที่ผมจะสร้าง บ้านนกแอ่น ได้ผลตอบรับที่ดีในวันที่ท้องฟ้าโล่งในตอนเย็น ถ้าวันไหนครื้ม ๆ ทั้งวันจะได้จำนวนนกแอ่นที่ให้การตอบรับกับเสียงเรียกที่ผมใช้น้อยกว่า สำหรับจำนวนนกแอ่นที่ตอบรับกับเสียงเรียกแล้วทำให้เรามั่นใจได้ ต้องเป็นหลักร้อยนะครับ ในบางบทความบอกว่าต้อง 250 ตัวขึ้นไปด้วยครับ

หลังจากนี้ผมคงมีผลการทดสอบการเรียกนกมาให้ดูเรื่อย ๆ ครับ สำหรับในแต่ละพื้นที่ที่ผมได้เดินทางไปถึง

ผมยังไม่เก่งอะไรมากมาย แต่การได้เขียนบทความใน Blog http://swiftletsourceofinformation.blogspot.com/ ทำให้ผมได้รวมข้อมูลที่ได้ศึกษามาทั้งในเวปและทางหนังสือที่ได้สั่งซื้อมาอ่าน และคิดว่าคงมีประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจเรื่้อง บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ไม่มากก็น้อยนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

9/30/2009

ปัจจัยสำคัญในการสร้างบ้านนกแอ่น(Swiftlet House)

การตัดสินใจการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านใด จะต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ผู้ลงทุนต้องนึกก่อนเสมอและเมื่อทราบว่าปัจจัยอะไรสำคัญก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยเหล่านั้นให้ได้ สำหรับการสร้างบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ก็มีหลายปัจจัยเช่นเดียวกัน โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะหัวข้อก่อนนะครับ

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ผมพอสรุปได้คือ
1. ทำเลที่ตั้ง
2. อุณหภูมิ
3. ความชื้น
4. แสงสว่าง
5. ขนาดของทางเข้า-ออก
6. ขนาดของบ้านนกแอ่น
7. วัสดุที่ใช้ตีรัง
8. วิธีเก็บรังนกแอ่น
9. ศัตรูต่าง ๆ
10. ระบบเสียง
11.ความเอาใจใส่ของผู้ดูแล

เนื่องจากการทำบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ถ้าประสบความสำเร็จก็จะคืนต้นทุนที่ได้ลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติสำหรับบ้านนกแอ่นจะได้ผลผลิต(รังนกแอ่น)เต็มที่ประมาณปีที่ 5 เป็นต้นไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย อาจจะเร็วกว่าหรือช้ากว่าก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่ถ้าเร็วกว่า 5 ปี ขอบอกคุณเดินยิ้มเข้าแบงค์ได้ทุกวันแน่ ๆ ครับ จากที่ผมได้อ่านมาเกี่ยวกับเรื่่องโอกาสประสบความสำเร็จของบ้านนกแอ่น เช่น ที่อำเภอปากพนังมีบ้านนกแอ่นประสบความสำเร็จเพียง 30% ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่ามากกว่า 30% ที่ประสบความสำเร็จแล้ว หรืออย่างในเพื่อนบ้านก็มีการเขียนบอกไว้เช่นกัน ว่าบ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 20-30% แต่สำหรับผมแล้วตัวเลขนี้ไม่อาจทำให้ผมเปลี่ยนใจในการคิดจะทำบ้านนกแอ่น (ปกติ 50:50 ก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงแล้วครับ) เพราะทุกวันนี้ตื่นมาตอนเช้าผมแทบจะบินออกไปหากินกับฝูงนกแอ่นกำลังหลงไหลแล้วครับ ขอเพียงให้มั่นใจว่าเราได้ศึกษาสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด และต้องปฏิบัติให้ได้ ความเสี่ยงและปัญหาที่จะตามก็จะลดน้อยลงครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

9/29/2009

นกแอ่นสู่แรงบันดาลใจ


สวัสดีครับ วันนี้มาพูดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมได้เข้ามาศึกษา นกแอ่น(Swiftlet) อย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะผมได้เดินทางไปทั้งภาคใต้เกือบทุกจังหวัด สถานที่แห่งแรกที่ผมได้รู้จักนกแอ่นก็คือที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่ ณ.เวลานั้นยังไม่ได้สนใจเห็นแต่ว่ามีการสร้าง คอนโดนกแอ่น บ้านนกแอ่น บ้านรังนก หรือดัดแปลงบ้านคนให้นกแอ่นอยู่ ผ่านมาหลายปีเหมือนผมได้เห็นโอกาสและแนวทางที่จะพอทำบ้านนกแอ่นได้ ซึ่งอีกไม่นานผมก็จะมีบ้านนกแอ่นหลังแรกแน่ ๆ

เป้าหมายแรกของผมภายใน 2 ปีจะทำบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) สองหลัง เป้าหมายต่อไปคือ ผมจะต้องเลี้ยงนกแอ่นให้ได้ประมาณ 100,000 ตัว ถ้าให้บอกว่ากี่หลังผมจะเลือกที่ 8 หลัง เลขนี้มีโชคครับ หลายท่านคิดว่าฝันกลางวันแน่ ๆ แต่เมื่อเรามีเป้าหมาย และเป้าหมายนี้ผมเห็นค่อนข้างชัดเจน คราวนี้ลองคำนวณความฝันดูนะครับ ใน 100,000 ตัว จากที่ผมได้ศึกษามาจำนวนนกแอ่นตัวผู้จะมีน้อยกว่านกแอ่นตัวเมีย คือคิดเป็น 30% โดยประมาณ ดังนั้น ลองคิดเล่น ๆ ครับ ว่าหนึ่งปีเราจะเก็บรังนกแอ่นได้ 3 รอบ รอบละ 33,000 รัง รวมการเก็บรังนกแอ่นทั้งปีจะได้ 99,000 รัง คิดเป็นจำนวนกิโลกรัม(110 รัง จะได้ 1 กิโลกรัม) จะได้ 900 กิโลกรัม..... ถ้าคิดราคารังนกแอ่นที่ 30,000 บาทต่อกิโลกรัม เครื่องคิดเลขที่ผมถืออยู่ในมือตอนนี้มีตัวเลขเต็มทั้งแถวครับ

บทความต่อไปผมจะพูดถึงพื้นฐานต่าง ๆ ในการสร้างบ้านนกแอ่นและภาพการทดสอบเรียกนกแอ่นในแต่ละจังหวัดตามที่มีโอกาสนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

9/26/2009

วงจรชีวิตของนกแอ่น (Swiftlet)


เนื่องจากข้อมูลเรื่องนกแอ่นเป็นข้อมูลที่หาอ่านได้ยากสำหรับผู้สนใจจะเลี้ยงนกแอ่น (คนทั่วไปเข้าใจว่า นกแอ่น คือ นกนางแอ่น) แหล่งข้อมูลใหญ่ก็จะเป็นทางประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย ผมก็เป็นผู้ที่สนใจเรื่องนกแอ่นไม่น้อย และคิดว่าการรวบรวมความรู้หรือบทความที่น่าสนใจเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาการเลี้ยงนกแอ่น การทำบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) เนื่องจากผมได้อ่านบทความจาก http://swiftletlover.blogspot.com/ ซึ่งเป็นBlog ของคุณเทพชัย อริยะพันธุ์ เป็น Blog แรกที่ได้ให้ความรู้อย่างมากมายโดยไม่ปิดบัง ดังนั้น Blog นี้ก็จะมีบทความที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงนกแอ่น การทำบ้านนกแอ่นอย่างแน่นอน.



วันนี้ผมเลยอยากให้ท่านที่สนใจการเลี้ยงนกแอ่นมาศึกษาวงจรชีวิตนกแอ่นกันครับ บางคนถามว่านกแอ่น หรือ นกแอ่นกินรัง(Swiftlet) จะมีอายุได้นานกี่ปี คำถามนี้คงต้องเริ่มจากนกกับไข่อะไรเกิดก่อนกัน คำตอบคือนกแอ่นจะสร้างรังได้เมื่ออายุประมาณ 8 เดือนมีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือน มกราคม-เมษายนของทุกปี แต่อาจแตกต่างกันได้ขึ้นกับแต่ละพื้นที่ ปกตินกแอ่นเพศเมียจะเป็นผู้สร้างรัง นกแอ่นจะสร้างรังในเวลากลางคืน นกแอ่นจะทำรังได้ประมาณครั้งละหัวไม้ขีดไฟ เมื่อน้ำลายแห้งจะแข็งคล้ายวุ้นโดยจะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน รังจะมีรูปร่างเหมือนถ้วยครึ่งซีก หลังจากสร้างรังเสร็จนกแอ่นจะวางไข่ 2 ฟองต่อรัง ระยะวางไข่แต่ละฟองห่างกัน 1-2 วัน และนกแอ่นจะผลัดกันฟักไข่ ช่วงแรกนกแอ่นจะยังไม่ได้ฟักไข่ตลอดเวลา จนระยะเวลาที่ไข่จะฟักเป็นตัวนกแอ่นจะผลัดกันฟักไข่ตลอดเวลา รวมระยะเวลาประมาณ 20-28 วัน ลูกนกแอ่นก็ฟักออกจากไข่ หลังจากออกจากไข่แล้ว สัปดาห์แรกลูกนกแอ่นยังไม่มีขนผิวเป็นสีชมพู ช่วงนี้จะยังรับการกกจากพ่อแม่ตลอดเวลา สัปดาห์ที่สองเมื่ออายุได้ประมาณ 10 วัน จะมีขนเกือบทั่วลำตัว ช่วงนี้ได้รับการกกจากพ่อแม่น้อยลงสัปดาห์ที่สาม,สี่ ลูกนกแอ่นมีขนทั่วตัว พ่อแม่นกแอ่นจะกลับมาป้อนอาหารให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ที่ห้า นกแอ่นมีอายุประมาณ 35 วันแล้ว ช่วงนี้ดูเหมือนพ่อแม่มาก แต่มีขนาดเล็กกว่า จะออกมาจากรังมาเกาะที่ขอบรังและเริ่มโบกปีกเล่นบ้าง สัปดาห์ที่หก ลูกนกแอ่นก็จะหัดบินและเมื่อบินได้ดีแล้วก็จะออกจากบ้านไปหาอาหารกินร่วมกับฝูงของพ่อแม่ นกแอ่นจะมีอายุประมาณ 6-7 ปี และเชื่อกันว่านกแอ่น อายุ 3 ปี จะสร้างรังได้ดีที่สุด เก่งที่สุดครับ

รู้เรื่องนกแอ่นให้มากที่สุด คิดให้เหมือนนกแอ่นมากที่สุด โอกาสประสบความสำเร็จก็จะมากที่สุดครับ ติดตามบทความต่อไปนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม