3/30/2010

อุปกรณ์เปิด-ปิดเครื่องเสียงในบ้านนกแอ่นตอนที่ 1 (Timer)

สำหรับอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) คือตัวตั้งเวลาในการเปิดหรือปิดเครื่องเสียงของท่าน โดยปกติแล้วสำหรับเสียงนอก(External Sound) จะเปิดเวลาประมาณ 05.30 น. และจะปิดในเวลา 19.00 น. หรือในบางบ้านจะเปิดเสียงเรียกนอกในตอนเช้า กลางวันปิดอาจเพราะไ่ม่อยากให้เสียงดังทั้งวัน (อาจเป็นเพราะเพื่อนบ้านบ่นมาประมาณนี้) แล้วเปิดเสียงอีกครั้งช่วงบ่ายถึงค่ำเลยครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ Timer ในการเปิดเครื่องเสียง เป็นหลัก ยกเว้นหากท่านอยู่ใกล้ ๆ และขยันเปิด-ปิดทุกวัน พอได้เวลาก็เปิด ถึงเวลาก็ปิดเอง

ตัวอย่าง Timer ครับ


Timer สำเร็จรูปแบบนี้หาได้ไม่ยากครับ มีหลายราคาขึ้นกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ขออย่างเดียวให้เวลาเดินตรงเป็นใช้ได้ครับ ไม่ใช่วันนี้ตั้งเวลาไว้ตรง ผ่านไปอีก 7 วัน เดินเร็วไป 1 ชั่วโมง ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าไม่ผ่านครับ

ส่วนเรื่องเสียงเรียกใน (Internal Sound) ปกติแล้วจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง หากท่านเปิดด้วยแอป์มตัวเดียวตลอดเวลาทั้งวันเป็นเวลาแรมเดือนแรมปีแล้ว อาจส่งผลให้เครื่องเสียงท่านเสียหรือหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าเวลาอันควร ดังนั้นหลาย ๆ ตำราจึงแนะนำให้ใช้แอป์มสองตัวสลับกันทำงาน โดยอาจสลับกันทุก 2 ชั่วโมง ,4 ชั่วโมง,6 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง ซึ่งท่านจะสามารถสลับให้เครื่องเสียงทำงานได้โดยใช้ Timer สองตัวตั้งเวลาให้สลับกันทำงานได้ แต่หาก Timer ที่ท่านใช้เดินไม่ตรงกันก็จะมีช่วงเวลาที่เครื่องเสียงทำงานไม่ต่อเนื่องกันครับ

ตอนนี้ผมเลยลองหาวิธีที่จะใช้ Timer มาต่อกับตู้ควบคุม หลักการง่าย ๆ คือตู้นี้จะมีปลั๊กเสียบสองปลั๊ก โดยมี Timer เป็นตัวสั่งจ่ายไฟไปในแต่ละปลั๊กสลับกันตามเวลาที่เราได้ตั้งไว้ เช่น 2 ชั่วโมงแรกจ่ายไฟไปยังปลั๊กที่ 1 พอ 2 ชั่วโมงต่อมาจะตัดไฟปลั๊กที่ 1 และจ่ายไฟไปยังปลั๊กที่ 2 สลับกันไปเรื่อย ๆ วิธีนี้จะทำให้เครื่องเสียงท่านทำงานต่อเนื่องกันได้ตลอดเวลาและคิดว่าเครื่องเสียงท่านน่าจะมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นครับ

ตัวอย่างตู้ควบคุมเล็ก ๆ พร้อมอุปกรณ์ที่ผมจะประกอบครับ


ผมทดลองต่อไฟและทดสอบดู ใช้งานได้ดี เหลือแต่ประกอบลงตู้ครับ


ชุดควบคุมนี้สำหรับผมแล้วคิดว่าไม่แพงครับกับผลที่ได้ ท่านลองถามหาได้ตามร้านขายอิเล็คโทรนิคดูได้ครับ รวมหมดทุกอย่างไม่เกิน 1,500 บาท

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

3/21/2010

บ้านนกแอ่นตอนที่ 3

เวลาผ่านไปอีก 20 วัน มีความคืบหน้าไปพอสมควร ในความคิดผมไม่ช้าไม่เร็วเกินไป(จริง ๆ อยากให้เร็วกว่านี้มากมายครับ)

อิฐสำหรับก่อผนังส่งมาพร้อมก่อผนัง พร้อมเหล็กตัวซีสำหรับทำโครงหลังคา


ตัวบ้านกำลังขึ้นเสาหลังคาหลังเพื่อปิดดาดฟ้า ป้องกันแสงแดดที่ดาดฟ้าจะรับทั้งวันอีกชั้นครับ


ต่อมาเป็นขั้นตอนการขึ้นโครงหลังคาและการมุงหลัง คนงานก่อสร้างจะไม่ต้องร้อนอีกต่อไป (ร้อนอีกครั้งตอนฉาบปูน)
ใช้เวลาไม่นานในการมุงหลังคา แต่เวลาในการขึ้นโครงนานกว่ามากเลยครับ


ลองเอาเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นไปตั้งเล่น ๆ ผลที่คืออุณหภูมิ 31.3 องศา ความชื้ัน 70%RH เป็นช่วงที่อากาศร้อนดีจริง ๆ ครับ


ตอนนี้ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอยช่วงแรกครับ คือรอให้การก่อสร้างดำเนินการให้แล้วเสร็จ หากท่านอยู่ในช่วงเวลาแห่งการรอคอยระยะสั้นช่วงนี้ ท่านอย่าลืมเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ให้ครบนะครับ ไม่ว่าจะเป็นลำโพง แอมป์ สายไฟ เครื่องทำความชื้น เสียงเรียกนกแอ่นที่เด็ด ๆ ฯลฯ ท่านจะซื้อหาจากที่ไหนหรือจะติดต่อให้ใครมาตกแต่งภายใน เวลานี้หละครับเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด สำหรับผมตอนนี้คิดว่าได้หาไว้พร้อมสำหรับดำเนินการขั้นตอนต่อจากการก่อสร้างตัวอาคารให้แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

3/01/2010

บ้านนกแอ่นตอนที่ 2

วันนี้มาอัปเดทบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงแห่งการรอคอยเลยที่เดียวครับ เป็นการรอคอยให้บ้านนกแอ่นสร้างให้เสร็จและเป็นการรอคอยช่วงที่หนึ่ง แต่การรอคอยช่วงที่สองอาจนานและไม่สามารถกำหนดได้เหมือนการก่อสร้างคือ การรอให้นกแอ่นเข้าบ้านนกที่ท่านได้สร้างขึ้นมา อย่าลืมนะครับ
Location เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเสมอ

มาดูบ้านคนและบ้านนกหลังเล็ก ๆ ที่ผมกำลังดำเนินการก่อสร้างนะครับ
นำสิ่งมงคลที่เตรียมไว้ลงที่ก้นหลุมเสาเอก


ได้เวลายกเสาเอกครับ


การก่อสร้างเริ่มดำเนินการ หลังจากแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา
ภาพด้านหน้าติดถนน


ภาพด้านหลัง


ตามด้วยภายในที่ยังไม่มีอะไรครับ ตอนนี้มีแต่โครงสร้างกับแผ่นพื้นสำเร็จรูป


แบบเสาที่เป็นเหล็ก ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นไม้ พอดีผู้รับเหมามีหลายหน้างานเลยได้แบบเสามาสองแบบ


ปิดท้ายด้วยอุปกรณ์ที่เจ้าของบ้านนกแอ่นทุกคนต้องมีครับ


การดำเนินการก่อสร้างสำหรับบ้านนกแอ่นอาจล่าช้าในสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้เสมอครับ ยังไงก็ขอให้ท่านใจเย็น ดูระบบให้ดีก่อนเปิดให้นกแอ่นเข้ามาสำรวจนะครับ ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม