12/23/2010

การป้องกันอันตรายจากเครื่องทำความชื้นต่อนกแอ่น

สำหรับท่านที่ทำบ้านนกแอ่นคงเข้าใจดีว่ากว่านกแอ่นแต่ละตัวจะเติบโตและบินออกจากรังไปหากินได้เป็นสิ่งที่ยาก และสิ่งที่ยากกว่าคือการเรียกให้นกแอ่นเข้ามาสำรวจและตัดสินใจอาศัยในบ้านนกแอ่นของเราอย่างถาวร

ดังนั้นการลดอัตราการสูญเสียชีวิตหรือการลดความเสี่ยงจากเครื่องทำความชื้นประเภทที่ใช้ใบพัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นครับ เพราะตัวผมเองก็ใช้เครื่องทำความชื้นประเภทนี้ที่ผลิตจากประเทศไต้หวัน ใบพัดตัวนี้เคยคร่าชีวิตนกแอ่นที่เข้ามาสำรวจบ้านนกแอ่นผมไปหนึ่งตัว หลังจากนั้นก็เจอลูกนกแอ่นเข้าไปติดด้านในของเครื่องทำความชื้นอีกตัว ดีที่เครื่องทำหมอกยังไม่ทำงานและตัวผมเองเข้าไปเจอก่อน ทำให้ลูกนกแอ่นตัวนั้นรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด


หลังจากนั้นผมก็ได้นำตาข่ายมาติดเพื่อป้องกันนกแอ่นไม่ให้บินเข้าไปบริเวณใบพัดของเครื่องทำความชื้น ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความสูญเสียที่ไม่น่าเกิดขึ้นอีกในอนาคตต่อไปครับ



นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/05/2010

ทดลองใช้รังเทียมสำหรับนกแอ่น ตอนที่ 2

เมื่อท่านคิดว่าการออกแบบบ้านนกแอ่นทำได้ดีแล้ว การหาตัวช่วยต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดึงดูดนกแอ่นที่เข้ามาสำรวจตัดสินใจอยู่บ้านนกของท่านหรือเพื่อขยายจำนวนให้เร็วที่สุดเป็นสิ่งที่ทุกคนคงได้ลงมือทำ โดยอาศัยข้อมูลความรู้จากผู้ทำที่ทดลองทำที่แล้วสำเร็จ หรือแม้แต่การคิดเอาเองว่าเมื่อลงมือทำไปแล้วนกแอ่นต้องชอบ

สำหรับการทดลองใช้รังเทียมในบ้านนกแอ่นของผมโดยหวังว่าเรื่องการเพิ่มจำนวนนกแอ่น ซึ่งได้ทดลองติดมาประมาณ 2 เดือน บริเวณใกล้ ๆ กับลำโพงเสียงเรียกใน ปรากฏว่าตอนนี้เมื่อนกแอ่นอายุครบที่จะจับคู่และทำรัง สนใจรังเทียมที่ผมได้ติดไว้อย่างชัดเจน


โดยตอนนี้มีประมาณ 10 รัง จาก 30 รัง ที่นกแอ่นเข้าไปป้ายน้ำลายรองพื้นรังเพื่อจะได้วางไข่ต่อไป และรังเีทียมที่นกแอ่นเคยทำรังแล้วเมื่อย้ายรังนี้ไปติดตรงจุดอื่นจะเป็นที่สนใจพิเศษสำหรับนกแอ่นที่กำลังหาจุดทำรังใหม่ครับ


ภาพรังเทียมหลังติดไป 1 เดือน นกแอ่นกำลังรองพื้นรัง


ภาพด้านในรังเทียมที่นกกำลังป้ายน้ำลายรองพื้น


ภาพด้านในรังเทียมที่นกแอ่นป้ายน้ำลายเสร็จรอวางไข่

เมื่อก่อนผมเคยได้ยินเรื่องรังเีทียมมาบ้าง แต่การป้ายน้ำลายในรังเีทียมจริง ๆ ได้เห็นแบบเต็ม ๆ ก็ในบ้านนกตัวเองครับ บางรังป้ายเหมือนทำรังใหม่ ๆ ในรังเีทียมเลยก็มี บางรังแค่รองพื้นนิดหน่อยก็เสร็จแล้วครับ หากนกเริ่มไข่ในรังเทียมเมื่อไหร่ผมอัปเดทให้อีกครั้งนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/03/2010

บ้านนกแอ่นเปิดครบ 6 เดือน

วันนี้เป็นวันที่บ้านนกแอ่นของผมเปิดมาได้ครบ 6 เดือน จะว่าไปแล้วเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก แต่สำหรับผมแล้วอยากให้เวลาผ่านไปเร็ว ๆ กว่านี้และคงจะเป็นความรู้สึกที่เพื่อน ๆ ที่ได้ทำบ้านนกแอ่นทุกท่านรู้สึกเช่นกัน เพราะการทำบ้านนกแอ่นต้องอาศัยเวลา ยิ่งอายุของบ้านนกแอ่นมาก ยิ่งมีโอกาสที่จะมีนกแอ่นมาอาศัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

วันนี้ผมมีร่องรอยของนกแอ่นเข้ามาสำรวจบ้านนกแอ่นของผมมาฝากครับ อาจไม่ได้เป็นร่องรอยของการเข้าสำรวจที่หนาแน่นมาก แต่สำหรับผมแล้วเป็นจุดแรกที่บ่งบอกได้ว่านกแอ่นกล้าเข้ามาบินเล่นในบ้านนกแอ่นของผมครับ


อีกจุดที่ผมหรือท่านที่เป็นเจ้าของบ้านนกแอ่นทุกท่านเห็นแล้วต้องยิ้มได้คือ จุดที่นกแอ่นทำรังครับ สำหรับจุดนี้เป็นจุดใหญ่สุดสำหรับบ้านนกแอ่นผมตอนนี้ครับ


ตลอดระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ นกแอ่นเข้ามาแล้วใช่เลย และหวังว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไป แต่ยังคงมีสิ่งที่ผมต้องดำเนินการอีกหลายอย่างภายในช่วงเวลาอีก 2 ปี ข้างหน้าแน่ ๆ เพื่อให้บ้านนกแอ่นผมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ทำได้ครับ

ขอให้ทุกท่านโชคดีและประสบความสำเร็จในการทำบ้านนกแอ่น บนพื้นฐานของความเป็นจริงนะครับ หลายท่านเข้ามาและล้มเหลวในธุรกิจนี้เพราะขาดความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง ศึกษาให้เข้าก่อนลงทุนนะครับ
ความเป็นจริงคือ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดได้มาง่าย ๆ ครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

11/21/2010

แมลงมุมในบ้านนกแอ่น

สำหรับการเข้าบ้านนกแอ่นของผมทุกครั้งจะมีจุดมุ่งหมาย แม้ลึก ๆ บางครั้งเป็นเพราะอดใจไม่ไหวที่จะเข้าดูภายในบ้านนกแอ่น สำหรับครั้งนี้ผมได้เจอกับแขกที่ไม่ได้รับเชิญอีกหนึ่งชนิดหลังจากที่ได้เจอเจอแมลงสาปก่อนหน้านี้ที่ไปเดินเล่นอยู่บนไม้ตีรัง แต่ครั้งนี้เป็นแมลงมุมตัวใหญ่


หากผมไม่เห็นและได้เชิญออกไปจากบ้านนกแอ่นผม เจ้าแมลงมุมตัวนี้อาจไปเดินเล่นอยู่แถว ๆ ไม้ตีรัง ซึ่งจะทำให้นกแอ่นระแวงและคิดไปได้ว่าบ้านหลังนี้ไม่ปลอดภัยซะแล้ว และเมื่อนกแอ่นเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยก็จะเป็นเรื่องยากที่จำนวนนกแอ่นจะเพิ่มขึ้นหรือบางครั้งอาจถึงกับจำนวนนกแอ่นที่มีอยู่ค่อย ๆ ลดลงไปเลยก็ได้ครับ

นกแอ่นเป็นนกที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาก ๆ นะครับ ขอให้ท่านตระหนักถึงเรื่องนี้มาก ๆ นะครับ หากท่านจะลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วคิดว่าจะส่งผลให้นกแอ่นเกิดความระแวงหรือสงสัยเรื่องความปลอดภัย จงละเว้นสิ่งนั้น ๆ ให้หมดนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

11/14/2010

พัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

หลังจากบ้านนกแอ่นของผมเปิดมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เป้าหมายที่ผมตั้งไว้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยลืม การพัฒนาบ้านนกแอ่นเพื่อให้ได้จำนวนนกแอ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของรังนกแอ่น ซึ่งตอนนี้ยังมีสิ่งที่ผมต้องทำในความคิดผมยังมีอยู่อีกหลาย ๆ อย่าง แต่สำหรับตอนนี้สิ่งที่ผมได้เข้าไปบ้านนกแอ่นล่าสุดคือการติดไม้ปิดมุมให้ครบทุก ๆ ลำโพงสำหรับเสียงเรียกใน และต่อไปคือการติดไม้ปิดมุมให้ครบทุกมุมในบ้านนกแอ่นของผมเอง แต่อาจต้องรอเวลาเพราะบางมุมผมช้ากว่านกแอ่นไปแล้วครับ

ภาพมุมที่ช้ากว่านกแอ่น


ภาพไม้ปิดมุมเหนือลำโพงพร้อมรังเทียม

และปิดท้ายด้วยภาพลูกนกแอ่นตัวน้อยตัวแรกในบ้านนกแแอ่นที่ขนเริ่มขึ้นจนเห็นได้อย่างชัดเจนตอนนี้แล้วครับ และอีกไม่นานจะมีน้อง ๆ ของเจ้านกแอ่นตัวนี้ลืมตามาดูโลกชุดครับ

ภาพลูกนกแอ่นในรัง

ผมขอให้ทุก ๆ ท่านนึกอยู่เสมอนะครับ ว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจบ้านนกแอ่น มีความเสี่ยงมาก หากท่านดูแลพวกเค้าไม่ดีพอ ก็เป็นสิ่งที่ยากครับที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ขอให้ทุกท่านโชคดีประสบความสำเร็จในการทำบ้านนกแอ่นนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

11/04/2010

เมื่อท้องฟ้าปิด พายุกระหน่ำ

จากบทความ ฤดูกาลแปรเปลี่ยน ที่ผ่านมาทำเห็นได้ว่าปีนี้จะเกิดผลกระทบจากปรากฏการณ์ ลานินญ่า ที่ฝนจะตกมากกว่าปีที่ผ่านมา และจะตามมาตัวอากาศที่หนาวเย็นยาวนานขึ้น

ภาพน้ำท่วมบริเวณไม่ไกลจากบ้านนก

ตัวผมเองก็โดนเข้าไปเต็ม ๆ เช่นเดียวกัน บ้านนกแอ่นของผมตอนนี้ความชื้นทะลุ 95%RH ไปแล้ว อุณหภูมิก็ต่ำกว่า 25 องศา จากพายุฝนที่ตกหนักติดกันหลายวัน ตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะนาน แต่ตอนนี้ทนไม่ไหวต้องหาอุปกรณ์มาช่วยให้ระบบเข้าที่เข้าทาง และคิดว่าจะเป็นการดีถ้านกแอ่นที่อยู่ในบ้านนกของผม ไม่ต้องทนอากาศเย็นในเวลากลางคืน ลดความเสี่ยงที่ไม้ตีรังจะขึ้นราจากความชื้นที่สูง ผมถามตัวเอง และคำตอบที่ได้คือ ฮีตเตอร์ ครับ

ฮีตเตอร์ที่ตั้งอุณหภูมิในการทำงาน

หลังจากผมเอาฮีตเตอร์เข้าไปติดก่อนนกบินกลับบ้านได้ไม่นาน ตอนนี้สภาวะในบ้านนกแอ่นผมเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นครับ และหวังว่าข่าวบ้านนกแอ่นของผมไม่หนาว จะแพร่กระจายไปยังนกแอ่นฝูงอื่น ๆ ให้ได้เข้ามาสำรวจและเห็นสิ่งที่ดีกว่าบ้านนกหลังเก่าของเค้า เป็นอีกหนึ่งทางที่คิดว่านกแอ่นคงชอบใจที่หลังจากบินหาอาหารตากฝนทั้งวัน พอกลับมาถึงบ้านก็เจอบ้านที่อบอุ่นและลูก ๆ ของพวกเค้าที่อยู่ในบ้านก็ไม่หนาว


อุณหภูมิและความชื้นก่อนใช้ฮีตเตอร์


อุณหภูมิและความชื้นหลังใช้ฮีตเตอร์ 6 ชั่วโมง


อุณหภูมิและความชื้นหลังใช้ฮีตเตอร์ 14 ชั่วโมง

ส่วนในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ผมก็คิดว่าคงได้ใช้ฮีตเตอร์ที่ลงทุนซื้อมาใช้งานอีกครั้ง เพื่อให้อุณหภูมิในบ้านสูงกว่าด้านนอกประมาณ 2 องศา แต่สำหรับในฤดูหนาวอากาศแห้ง ความชื้นน้อย หากท่านใดจะใช้ฮีตเตอร์แบบผม ท่านอย่าลืมเพิ่มความชื้นด้วยนะครับ เพราะถ้าทำให้อากาศอุ่นขึ้นโดยที่ไม่เพิ่มความชื้น จะทำให้รังนกแห้งกรอบและผิวลูกนกจะแห้งมากไปด้วยเช่นกันครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

11/01/2010

ฤดูกาลแปรเปลี่ยน ...ฝนน้อย แล้งมาก ฝนมาก น้ำท่วม

บางทีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสภาพอากาศอาจจะเป็นเรื่องปกติ หนักบ้าง เบาบ้าง ตามแต่ความผันแปรหรือองค์ประกอบ ปัจจัยทั้งหลาย น้ำท่วม ฝนแล้ง ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น ....

สิ่งที่เปลี่ยนที่น่าจะพูดถึงก็คือปรากฏการณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้นถี่ มากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นความผันผวนของดินฟ้าและอากาศโลก ของเราอาจจะไม่เหมือนเดิมในวิถีที่ควรเป็นหรือที่ควรจะเป็น มีปรากฏการณ์มากมายเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เราต่างถกเถียงกันมานานบนฐานคิด ทฤษฎี ภูมิปัญญา หรือแม้แต่บนความเชื่อเล็กๆ น้อยๆ ถึงแม้จะได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน แต่เราก็มั่นใจว่าความเปลี่ยนแปลงได้ปรากฏขึ้นแล้วบนโลกใบนี้ ....

เอลนินโญ่, ลานินญ่า คำแปลกๆ ที่ยากจะเข้าใจ แต่อาจจะเข้าใจมากขึ้น เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งทว่า

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นไปของสภาพอากาศที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต ระบบการผลิตด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ซึ่งเป็นนัยยะของการดำรงชีพบนฐานความมั่นคงทางอาหาร ฉะนั้นแล้วลักษณะอากาศที่เปลี่ยนไปในทุกปีจะเป็นเรื่องราวที่นำไปสู่การคาดการณ์ อันจะเป็นผลสรุปของทางออกในการเตรียมรับมือจากสภาพอากาศที่ไม่เหมือนเดิม

สำหรับเพื่อนที่มีประสบการณ์ในการทำบ้านนกแอ่นมานานคงเตรียมตัวรับมือไว้บ้างแล้ว แต่สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาในวงการบ้านนกแอ่นควรเตรียมตัวรับมือจากผลที่เกิดจากปรากฏการณ์ ลานินญ่า ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักอยู่ตอนนี้และอากาศหนาวที่กำลังจะตามมาด้วยนะครับ เช่น ช่วงนี้ลมค่อนข้างแรงหากช่องลมเยอะก็ปิดบ้างจะดีนะครับ แต่หากปิดแล้วความชื้นมากไปก็ต้องหาวิธีระบายความชื้น บ้านหลังไหนติดพัดลมดูดอากาศไว้ก็จะมีประโยชน์ช่วงนี้แน่ ๆ ครับ


เอลนินโญ (El Nino)คือ การไหลย้อนกลับของผิวน้ำทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่งๆ จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกไปแทนที่กระแสน้ำเย็นที่พัดอยู่เดิมตามบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้

ลานินญ่า (La Nina)คือความผันผวนของสภาพอากาศโลก ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ช่วงระยะเวลาเย็นลงของน้ำ ทะเลของปรากฎการณ์เอลนิโญ โดยจะส่งผลให้พื้นที่ที่เคยมีอากาศหนาวเย็นอยู่แล้วมีอุณหภูมิลดต่ำลงไปอีก และในบริเวณที่มีฝนตกเป็นประจำจะมีฝนตกชุกยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิงศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ศูนย์ ความรู้เฉพาะด้านภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเลกโทรนิคส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/20/2010

ความจริงเมื่อวันที่นกแอ่นเล่นเสียง

ฤดูฝน ฤดูแห่งความหวังและการรอคอย เมื่อฝนหยุดตก คือ ช่วงเวลาที่เพื่อน ๆ ที่ทำบ้านนกแอ่นทุกท่านอยากหยุดเวลาตรงนี้ไว้ ด้วยเพราะนกแอ่นจะตั้งหน้าตั้งตาบินเล่นเสียงเรียก เข้ามาสำรวจบ้านนกของท่านและหลังจากท่านเห็นการเล่นของนกแอ่นจบลง ท่านก็หวังว่านกแอ่นในบ้านท่านจะเพิ่มขึ้นจากการสำรวจของนกแอ่นในวันนี้และในวันต่อไปนกแอ่นต้องเพิ่มขึ้นอีกถ้านกแอ่นมาเล่นเสียง ยิ่งมาเล่นเสียงเรียกมากนกแอ่นต้องเพิ่มมาก

แต่หากความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปครับ เพราะสำหรับบ้านนกแอ่นที่เปิดใหม่ ๆ หากวันนี้บ้านนกแอ่นท่านมีนกมานอน 100 ตัว ก็แสดงว่าจะต้องมีลูกนกแอ่นที่ยังไม่ทำรังในบ้านอื่นหายไป 100 ตัวเหมือนกัน ที่ผมบอกว่าลูกนกแอ่นที่ยังไม่ทำรังหายจากบ้านอื่นมาอยู่บ้านนกแอ่นของท่านเพราะว่าถ้านกแอ่นเลือกที่ไหนทำรังครั้งแรกแล้ว การย้ายที่อาศัยเป็นไปได้ยากมากครับ ยกเว้นมีอะไรไปรบกวนทำให้นกแอ่นรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างรุนแรง

ความจริงเมื่อวันที่นกแอ่นเล่นเสียง คือ วันที่ลูกนกแอ่นบ้านอื่นมาเล่นเสียงเรียกบ้านนกแอ่นของท่านและเป็นวันที่นกแอ่นของท่านก็จะไปเล่นเสียงเรียกของบ้านนกแอ่นหลังอื่นเช่นกัน ดังนั้นในวันที่นกแอ่นเล่นเสียงเรียก บินสำรวจมาก ๆ ท่านมีโอกาสได้ลูกนกแอ่นเพิ่มมาก แต่ก็จะเป็นวันที่ท่านมีโอกาสเสียลูกนกแอ่นที่ยังไม่ทำรังในบ้านนกแอ่นท่านมากไปเช่นกันถ้าลูกนกแอ่นไปบินเล่นเสียงและสำรวจเจอบ้านนกแอ่นที่ดีกว่าบ้านนกของท่าน เพราะตอนนี้นกแอ่นมีทางเลือกมากขึ้นเนื่องจากในบางพื้นที่บ้านนกแอ่นกำลังมีมากกว่านกแอ่นไปแล้วครับ

บทความนี้เป็นเพียงแนวคิดที่ผมอยากเสนอความจริงที่ว่าในทุก ๆ เรื่องจะมีสองด้านเสมอครับ ใครเตรียมความพร้อมได้ดีกว่า เข้าใจธรรมชาตินกแอ่นได้มากกว่า เลือกพื้นที่ในการสร้างบ้านนกดีกว่า โอกาสก็จะมากกว่าเช่นกันครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/19/2010

คำตอบสุดท้ายเมื่อนกแอ่นเกาะเหนือลำโพง

หลังจากผมได้ลงบทความเกี่ยวกับ เรื่องนกแอ่นได้ยินเสียงที่ท่่านเปิดหรือไม่ เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ได้มีเพื่อน ๆ ร่วมวงการหลายท่านได้โทรมาคุยกับผมเรื่องนี้ เพราะบ้านนกของท่านเหล่านี้ก็ประสบปัญหาแบบที่ผมได้เป็นอยู่ ณ.เวลานั้นคือ นกแอ่นไม่สนใจเสียงเรียกในที่เราตั้งใจเปิดให้พวกเค้าได้ฟัง ซึ่งอาจเป็น เพราะคุณภาพของลำโพงไม่ได้มาตรฐานหรือลำโพงไม่ตรงกับความถี่ที่นกแอ่นต้องการ หลาย ๆ ท่านก็ได้รับคำตอบไปแล้ว และกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ผมได้ลงมือทำไปแล้ว และตอนนี้ทุกครั้งที่นกแอ่นบินกลับเข้าบ้าน หรือเวลาที่นกแอ่นบินสำรวจในบ้านนกแอ่นของผม ผมจะสังเกตการตอบสนองลำโพงที่ผมได้เปลี่ยนไปทั้งหมด ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ๆ ครับ

ภาพด้านล่างเป็นภาพล่าสุดเมื่อตอนเย็นนี้เองครับ


จะเห็นได้ว่านกแอ่นที่อาศัยอยู่ในบ้านนกของผมตอบสนองกับลำโพงเสียงในดีมาก ๆ และอีกไม่นานนกแอ่นที่อายุครบที่จะจับคู่ทำรังคงได้มาจองบริเวณใกล้ ๆ ลำโพงเสียงเรียกในเพื่อเป็นเรือนหอขยายเผ่าพันธุ์ในบ้านนกแอ่นของผมแน่ ๆ ครับ

สุดท้ายนนี้หากท่านประสบปัญหาหรือสิ่งที่เห็นว่าควรแก้ไข อย่ารีรอนะครับเพราะโอกาสเป็นของผู้ที่ลงมือทำก่อนเสมอครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

การเซาะร่องบนไม้ตีรัง

ปัจจุบันได้มีการนำไม้หลากหลายชนิดมาทำเป็นไม้ตีรังสำหรับให้นกแอ่นทำรัง หลัก ๆ ก็คือเน้นเรื่องกลิ่น ไม้ชนิดนั้นต้องเป็นไม้ที่ไม่มีกลิ่น ส่วนความแข็งของไม้ก็จะส่งผลถึงความทนทานและความเสี่ยงต่อราขาวที่จะขึ้นบน ไม้ที่อยู่ในห้องที่มีความชื้นสูง ๆ ไม้ที่มีเนื้อแข็งความเสียงก็จะน้อยกว่าครับ สำหรับตัวผมยังมั่นใจในไม้ตระกูบสยา(Meranti) และสุดยอดของไม้ที่ได้รับการคัดเลือกและไว้ใจมากที่สุดคือ สยาหิน (Dark Red Meranti) ส่วนอันดับสองรองลงมาืคือ สยาแดง (Red Meranti) ไม้ตระกูลนี้ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียครับ

และหลังจากผมเปิดบ้านนกแอ่นมาได้สักระยะ บางครั้งสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราได้เห็นและนำมาปรับปรุงบ้านนกแอ่น พอรวมจากสิ่งเล็ก ๆ หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ ครั้งที่เราทำ ก็จะเป็นสิ่งที่ส่งผลทำให้นกเห็นความแตกต่างกับบ้านนกแอ่นหลังอื่น ๆ ได้ และก็มีบางเรื่องที่ผมก็ได้ทำเกินไปและตอนนี้คิดว่าไม่จำเป็น เช่น การเซาะร่องบนไม้ตีรัง ของเดิมผมเซาะร่องบนไ้ม้โดยเว้นให้เท่า ๆ กัน จนถึงบนสุด แต่ตอนนี้จะเห็นได้ว่านกแอ่นจะเกาะต่ำลงมาจากไม้ตีรังด้านบนประมาณ 3-4 นิ้ว ดังนั้นร่องด้านบนก็ไม่จำเป็น แถมยังทำให้นกเสียเวลา เสียน้ำลายในการป้ายน้ำลายทำรังตรงร่องที่ผมได้เซาะด้วย และตอนนี้ผมก็มีแบบการเซาะร่องบนไม้ตีรังมาให้ท่่านดู ไม้ตีรังด้านบนไม่ต้องเซาะร่องแล้วครับ


นำ่เสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/15/2010

ไม้ปิดมุมกับบ้านนกแอ่นเปิดใหม่

การทำบ้านนกแอ่นไม่มีสูตรตายตัว เทคนิคที่ใช้ได้ดีกับบ้านนกแอ่นหลังนี้ แต่เมื่อนำไปใช้กับบ้านนกแอ่นอีกหลังอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ สำหรับบ้านนกแอ่นที่ผมสร้างขึ้นยังมีจุดบกพร่องที่ผมเห็นแล้วต้องปรับปรุงอยู่เสมอ โดยไม่รีรอหรือรอความหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ผ่านจากเรื่องลำโพงเสียงเรียกใน หลังจากผมเปลี่ยนทั้งหลังโดยไม่ลังเล ปรากฏว่าตอนนี้นกแอ่นได้ไปเริ่มทำรังเพิ่มที่ลำโพงเสียงในแล้วจำนวน 7 รัง และไปเกาะนอนตรงลำโพงในอีก 15 จุด ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนซึ่งอีกไม่นานคงเริ่มทำรังครับ ซึ่งจากเดิมที่นกแอ่นไม่เคยสนใจจะเหลียวเลลำโพงเสียงเรียกในเลยตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรก

ตอนนี้มาถึงคิวของไม้ปิดมุม จากที่ผมศึกษามาและเริ่มสร้างบ้านนกแอ่นผมตัดสินใจจะไม่ใช้ไม้ปิดมุม ซึ่งมาจากหลายเหตุผล เช่น นกแอ่นชอบมุมมาก ,ต้นทุนสูงขึ้น ,รังก็ยังเป็นรังมุมอยู่ดี ,แถมที่สำคัญคือเรื่องแมลงที่จะไปหลบอยู่ระหว่างช่องว่างระหว่างไม้ปิดมุม โดยเฉพาะแมลงสาปตัวร้ายครับ (ผมให้ความสำคัญเรื่องสัตว์รบกวนอันดับต้น ๆ) โดยตอนที่ช่างตีไม้จะพยายามเน้นไม่ให้มีช่องว่างระหว่างไม้ที่ต่อกันครับ แต่ไม่ว่าการทำสิ่งใด ๆ ไม่มีอะไร 100 % ง่าย ๆ ครับ ยังไงในบ้านนกแอ่นผมก็จะมีช่องว่างระหว่างรอยต่อของไม้คั่นกับไม้แนว




และจากภาพที่เห็นด้านบนนกแอ่นเริ่มมาทำรังตรงมุมนี้แล้วด้วย ทำให้นกแอ่นต้องเสียเวลาในการเอาน้ำลายตัวเองมาอุดช่องว่างของรอยต่อของไม้บริเวณนี้ด้วยแน่ ๆ ทำให้ระยะเวลาในการทำรังของนกแอ่นก็จะนานขึ้น ซึ่งถามว่าทำไมนกแอ่นถึงต้องอุดช่องว่างเหรอครับ ก็เป็นเพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ๆ อีกเช่นกันครับ

เมื่อผมเห็นปัญหา ด้วยความที่กลัวจะไม่มีงานทำมั่งครับ ผมคิดว่าต้องหาไม้มาปิดมุมแต่ไม้ปิดมุมที่ปิดแล้วมีช่องว่างระหว่างมุมผมไม่เอาด้วยแน่ ๆ จนตอนนี้ผมได้สิ่งที่ผมต้องการแล้วครับคือไม้ที่จะมาปิดมุมในแบบที่ผมต้องการ โดยเป็นไม้มุมที่ผลิตจากไม้สยาแดงจากโรงไม้ที่มีความชำนาญเรื่องไม้ตระกูลสยาในประเทศมาเลเซีย และเป็นไม้อันดับแรกที่คนที่ทำบ้านนกแอ่นได้ใช้กันมาอย่างยาวนานและได้ผลที่ดี งานนี้ผมคงต้องใช้เวลาอีกหลายวันในการติดไม้มุม โดยถ้ามุมไหนนกแอ่นทำรังไปแล้วก็ต้องรอให้นกแอ่นวางไข่จนกระทั่งลูกนกแอ่นบินออกไปผมถึงจะปิดมุมนั้นได้ครับ


อีกเหตุผลในการติดไม้มุมของผมคือน้ำหนักของเนื้อรังนกแอ่นที่ได้ครับ เพราะหลังจากผมได้พบปะพุดคุยกับบุคคลหลาย ๆ คนในวงการนกแอ่น การพัฒนาเพื่อให้รังนกแอ่นคุณภาพดีโดยที่คิดจำนวนรังยังเท่าเดิม รายได้ของท่านก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนครับ ตัวอย่างเช่น


รังมุมที่เป็นมุมฉาก จำนวนรังต่อกิโลกรัมประมาณ 180-240 รัง ราคาต่อกิโลกรัม 37,000 บาท
รังมุมที่ปิดมุมโค้ง จำนวนรังต่อกิโลกรัมประมาณ 160-180 รัง ราคาต่อกิโลกรัม 39,000 บาท
รังถ้วย
จำนวนรังต่อกิโลกรัมประมาณ 110-120 รัง ราคาต่อกิโลกรัม 45,000 บาท

คำนวณง่าย ๆ เลยครับ คิดเฉพาะรังมุมที่เป็นมุมฉากหากท่านมีรังนกที่เป็นรังมุมฉาก 240 รัง ท่านขายได้ 37,000 บาท แต่ถ้าเป็นรังรูปโค้งท่านจะได้เนื้อรังมากขึ้น ทำให้จำนวนรังนกแอ่นต่อกิโลกรัมจะลดลง และหากท่านมีรังนกแอ่น 240 รังเหมือนกัน ท่านจะได้น้ำหนักเพิ่มเป็น 1.3 กิโลกรัม X 39,000 บาท = 50,700 บาท สำหรับรังนกแอ่นที่เป็นรังมุมเพียง 240 รัง ท่านก็ได้ส่วนต่างถึง 13,700 บาทแล้วครับ และท่านลองคิดดูนะครับว่าในบ้านนกแอ่นท่านมีมุมทั้งหมดกี่พันมุมสำหรับบ้านนกแอ่่นขนาดกลาง เพราะหลังใหญ่ ๆ ผมว่าน่าจะมีเป็นหมื่นมุมเลยหละครับ สำหรับตัวผมแล้วคิดว่าคุ้มค่ามาก ๆ ครับสำหรับการลงทุนครั้งนี้

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/05/2010

บ้านนกแอ่นเปิดครบสี่เดือน

นับตั้งแต่ตัวผมได้สนใจเริ่มศึกษาการทำบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) จนกระทั่งได้ลงมือสร้างบ้านนกแอ่นหลังแรก ปัจจุบันผมได้เปิดบ้านนกแอ่นมาได้ครบสี่เดือนแล้ว แม้ตัวผมคิดว่าได้ศึกษาหาความรู้มาพอสมควรแล้ว แต่การลงมือปฎิบัติจริงทำให้ตัวผมได้ทราบว่าบ้านนกแอ่นของผมยังมีจุดบกพร่องและควรต้องปรับปรุงในส่วนใดบ้าง โดยถ้านับครั้งในการเข้าบ้านนกแอ่นของตัวผมเองในสี่เดือนที่ผ่านมาไม่น่าจะต่ำกว่า 20 ครั้ง เพื่อได้ลงมือทดสอบสิ่งต่าง ๆ ที่คิดว่าดีและเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของระบบที่ได้วางไว้ บางครั้งการทำสิ่งที่คิดว่าดีในความคิดของผมแต่กลับไม่ดีในความคิดของนกแอ่นก็มีครับ แต่เมื่อผมสังเกตเห็นก็จะปรับเปลี่ยนแก้ไขทันที และหลังจากนี้ตัวผมเองคงเข้าบ้านนกแอ่นน้อยลงแล้วครับ เพราะตอนนี้คิดว่าระบบที่ผมได้วางไว้น่าจะลงตัวแล้วและสิ่งที่ผมรอคอยก็มาแล้วด้วยครับ สิ่งนั่นคือไข่นกแอ่นใบแรกในบ้านนกแอ่นของผมครับ


ปัจจุบันการทำบ้านนกแอ่นใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยและแก้ไขปัญหาระบบในบ้านนกแอ่นได้ค่อนข้่างดี แต่ในปัจจุบันผมยังคิดว่ายังมีเพื่อน ๆ ชาวบ้านนกแอ่นอีกมากที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานในการทำบ้านนกแอ่น สิ่งที่ผมเป็นห่วงในช่วงที่ผ่านมาและยังเป็นห่วงอยู่คือเรื่องการเปิดเสียงเรียกนกแอ่น เพราะปัจจุบันมีการเปิดเสียงเรียกนกแอ่นแข่งขันกันเรื่องความดัง คนที่เดือดร้อนเรื่องเสียงเรียกที่ดังมาก ๆ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการร้องเรียนเป็นปัญหาของสังคมส่วนรวมไปแล้ว หากท่านเปิดดังแต่พอดีจะไม่มีปัญหาตามมาแน่ ๆ ครับ และผมว่าท่านจะทำธุรกิจบ้านนกแอ่นได้อีกนานกว่าด้วยครับ

เชิญชวนทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านตรงนี้เข้าร่วมโครงการ เปิดเสียงแต่พอเพียง ลดมลภาวะด้านเสียงให้สังคม

และสุดท้ายของบทความนี้ผมก็ขอขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทุกคนที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำบ้านนกแอ่นกับผม ทำให้บ้านนกแอ่นของผมเองครบสี่เดือนมีนกเข้านอนแล้ว 400 กว่าตัว กับรังอีกจำนวน 30 กว่ารังครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/02/2010

การทำรังของนกแอ่นในบ้านนกเปิดใหม่

สำหรับบ้านนกแอ่นที่เปิดใหม่ บ้านนกแอ่นของท่านต้องคอยเก็บลูกนกแอ่นจากบ้านที่ได้เปิดมานาน ๆ มีนกแอ่นเยอะ ๆ ดังนั้นนกแอ่นในบ้านของท่านส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนกแอ่นที่อายุยังน้อย ไม่ถึงเวลาที่จะจับคู่เพื่อขยายพันธุ์ จากการสังเกตของผมเองในเดือนแรกถึงเดือนที่สามจะมีนกแอ่นที่เริ่มทำรังไม่ถึง 5% ของนกที่เข้านอนในบ้านนกแอ่นของผม แต่พอเข้าเดือนที่ 4 จะเห็นได้ชัดเลยครับว่าจำนวนนกแอ่นที่เริ่มทำรังในเดือนนี้จะสูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่ถึง 10% ของนกแ่อ่นที่อาศัยอยู่ในบ้านนกแอ่นของผม และในเดือนที่ 5 ที่กำลังจะมาถึงจำนวนนกแอ่นที่ทำรังคงเกิน 10% ของจำนวนแอ่นที่อาศัยในบ้านนกแอ่นของผมแล้วหากเทียบจากสถิติของเดือนที่ผ่าน ๆ มา

ดังนั้งหากท่านเปิดบ้านนกแอ่นใหม่ ๆ แล้วเห็นนกแอ่นยังไม่ทำรัง ไม่ต้องตกใจครับเมื่อถึงเวลาที่พวกเค้าพร้อม ท่านก็จะได้เห็นสิ่งที่ท่านรอคอยครับ เปิดบ้านนกแอ่นใหม่ ๆ ควรสนใจจำนวนนกแอ่นที่เข้ามานอนและเตรียมความพร้อมของบ้านนกแอ่นเพื่อรอรับลูกแอ่นที่จะมาสำรวจดีกว่าครับ

สำหรับผมตอนนี้สิ่งที่รอคอยคือไข่นกแอ่นใบแรกในบ้านนกแอ่นของผม ตอนนี้มีเพียงแต่รังที่ว่างเปล่าครับ


นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

8/28/2010

นกแอ่นได้ยินเสียงเรียกที่ท่านเปิดหรือไม่

ปัจจุบันการทำบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าด้วยจากเหตุผลอะไรก็ตาม สำหรับบ้านนกแอ่นที่เปิดใหม่ ๆ จำเป็นต้องเปิดเสียงเรียกนกเพื่อให้นกแอ่นได้มาสำรวจบ้านนกของท่าน หลาย ๆ ท่านคิดว่าพอมีบ้านนกแอ่นเปิดใหม่ใกล้ ๆ เราต้องเปิดเสียงให้ดังไว้ก่อนกลัวนกแอ่นไม่มาบ้านนกของเรา ทำให้เป็นสาเหตุของปัญหาเรื่องเสียงที่รบกวนผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ผมขอให้นึกถึงหัวอกเค้าหัวอกเรานะครับ หากท่านไม่เปิดเสียงดังจนเกินไป เปิดดังพอประมาณ ปัญหาเรื่องเสียงจะไม่มีแน่ ๆ ครับหรือถ้ามีก็น้อยมาก ๆ

คราวนี้มาดูลำโพงที่ท่านใช้กันดีกว่าครับ ลำโพงจะถูกแบ่งด้วยความถี่ของเสียงที่ออกมาครับ ดังนั้นท่านจึงเห็นว่าลำโพงจะมีเสียงทุ้ม เสียงกลางและเสียงแหลม สำหรับลำโพงที่ใช้กับบ้านนกแอ่นแล้วจะเป็นลำโพงเสียงแหลมครับ ทุกท่านที่ทำบ้านนกแอ่่นคงใช้ลำโพงเสียงแหลมทุกคนแน่ ๆ แต่เป็นความถี่่เท่าไหร่หรือราคาประมาณไหนก็แล้วแต่ความรู้ที่ท่านได้ศึกษามาหรือใช้ตามบุคคลที่เคยทำสำเร็จแล้วแนะนำมา

สำหรับลำโพงเสียงในที่ผมได้ใช้ในบ้านนกแอ่นของผม มีพี่ที่ได้เข้ามาเห็นและสังเกตเห็นว่าหลังจากเปิดบ้านนกแอ่นมาได้เกือบ 3 เดือน นกแอ่นก็ยังไม่ค่อยสนใจลำโพงเสียงใน (นกแอ่นนอนแล้ว 300 ตัวต้น ๆ)
ทำให้คิดว่าน่าจะมีปัญหาที่ต้องหาให้เจอ แล้วจากผลที่ผมได้ทดสอบก็เป็นดังนี้ครับ

กราฟแรกเป็นค่ามาตรฐานความถี่(Hz) ของเสียงเรียกในที่ผมใช้ เป็นเสียงที่ยังไม่ขับผ่านลำโพง

ค่ามาตรฐาน

กราฟที่สองเป็นกราฟแสดงความถี่ที่ลำโพงเสียงเรียกในที่ผมใช้ในปัจจุบันขับออกมา ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาเพราะนกไม่สนใจเท่าที่ควร

Tweeter 1

ดังนั้นผมจึงทดลองสั่งลำโพงมาอีกสองยี่ห้อเพื่อมาเปลี่ยนกับลำโพงเสียงเรียกในที่ผมใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองยี่ห้อให้ค่าความถี่ที่ขับออกมาใกล้เคียงกับกราฟที่ 1 ตามกราฟด้านล่าง

Tweeter 2


Tweeter 3

จากกราฟความถี่ที่เห็นจะสังเกตได้ว่าลำโพงเสียงเรียกในที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันไม่น่าจะดีพอเพราะให้ค่าความถี่ที่ขับออกมาต่างกับค่าความถี่มาตรฐานของเสียงเริ่มต้นอย่างมาก ส่วนลำโพงเสียงเรียกในที่ผมสั่งมาใหม่สองยี่ห้อให้ค่าความถี่ที่ใกล้เคียงกับค่าความถี่มาตรฐานของเสียงเริ่มต้น ดังนั้นผมจะทดลองเปลี่ยนลำโพงและจะเฝ้าสังเกตุดูว่านกแอ่นสนใจลำโพงเสียงเรียกในเพิ่มขึ้นหรือไม่ และจะรายงานผลให้ทุกท่่านทราบภายหน้าครับ

และหากท่านกำลังหาคำตอบที่ว่าทำไมบ้านนกแอ่นหลังนั้นเปิดเสียงเรียกนกแอ่นไม่ดังมาก แต่กลับมีนกแอ่นไปเล่นเสียงอย่างมากมาย ผิดกับบ้านนกแอ่นหลังที่เปิดเสียงดังมากแต่นกแอ่นไม่เล่นเสียงและยังทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อนอีก คำตอบนอกจากเสียงเรียกที่ดีแล้วคือตัวลำโพงนั่นเองครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

8/20/2010

กล้องวงจรปิดในบ้านนกแอ่นตอนที่ 1

หลาย ๆ ท่านคงได้รับฟังเรื่องการใช้กล้องวงจรปิดในบ้านนกแอ่นมา ใครได้ฟังจากคนที่ใช้แล้วทำบ้านนกแอ่นสำเร็จก็จะกล้าใช้ แต่ท่านใดฟังมาจากคนที่ใช้แล้วเกิดปัญหาหรือทำบ้านนกแอ่นแล้วไม่สำเร็จก็จะไม่กล้าใช้ ถ้าท่านอยู่ในกลุ่มหลังแล้ว ท่านก็จะได้เห็นเพียงนกแอ่นบินเข้าปากทางเข้า ส่วนด้านในคงได้แค่คิดว่านกคงบินเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างไรไม่สามารถรู้ได้เลยครับ

สำหรับบ้านนกแอ่นผมเปิดมาได้ 2 เดือนครึ่งพอดี เกิดเหตุกระแสไฟฟ้าตกบริเวณกว้างและหนึ่งในนั้นที่ได้ผลกระทบคือบ้านนกแอ่นของผมเอง ทำให้เครื่องเสียงของผมไม่ดับแต่ไม่ทำงานครับและคนที่เห็นว่าผิดสังเกตุเป็นคนแรกคือตัวผมเองแม้ว่าผมจะอยู่ห่างไกลไปอีกหลายจังหวัด คำตอบคือกล้องวงจรปิดไงครับ(ไฟไม่เต็มเฟสกล้องยังทำงานอยู่ครับ) ทำให้ผมเห็นถึงเหตุการณ์ที่ไม่ปกติและสามารถแจ้งไปยังคนที่อยู่ใกล้ ๆ ให้เข้าไปตรวจสอบได้ หลาย ๆ ท่านคงกลัวการใช้กล้องวงจรปิด แต่สำหรับผมแล้วการติดกล้องวงจรปิดทำให้ผมได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในบ้านนกแอ่นรวมถึงห้องควบคุมด้วย ประสบการณ์ในครั้งนี้คงทำให้ผมต้องควักกระเป๋าซื้อตัวสำรองไฟเพิ่มอีกแน่ ๆ ครับ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกครั้งปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

และจากการเข้าไปสำรวจพบว่านกแอ่นสร้างรังได้ประมาณ 40% ของรังได้ 4 รังแล้วครับ และหวังว่ารังน้องใหม่จตามมาในเวลาไม่นาน



นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

8/14/2010

ทดลองใช้รังเทียมสำหรับนกแอ่น

ปัจจุบันการสร้างบ้านนกแอ่นจะประสบความสำเร็จได้เร็วต้องเป็นการดำเนินการแบบเชิงรุกครับ หากท่านสังเกตุเห็นอะไรหรือคิดว่าสิ่งไหนทำแล้วจะทำให้นกแอ่นตัดสินใจอยู่บ้านนกแอ่นของท่านแล้ว ท่านจงอย่ารีรอ ทดลองและแก้ไขให้ถูกใจนกแอ่นแล้วสิ่งที่ท่านต้องการจะตามมาครับ

สิ่งหนึ่งที่บ้านนกแอ่นของผมยังไม่มีคือรังเทียมหรือรังปลอมที่ใช้ในบ้านนกแอ่นที่เปิดใหม่ ๆ มีเพียงเศษโฟมติดบนไม้ตีรังซึ่งจะช่วยให้นกแอ่นทำรังง่ายขึ้น ปัจจุบันได้มีการนำวัสดุชนิดต่าง ๆ มาทำเลียนแบบรังนกแอ่น เช่นพลาสติก โฟม หรือมีกระทั้งการใช้รังนกแอ่นจริง ๆ มาติดบนไม้ตีรังในบ้านนกแอ่นที่เปิดใหม่ ๆ จุดประสงค์เพื่อให้ได้นกแอ่นเข้ามาอาศัยมากที่สุดในเวลาอันสั้น

สำหรับตัวผมก็สนใจรังเทียมและได้สั่งผลิตร่วมกับคุณฟู่(http://foofaswiftlet.blogspot.com/) ด้วยซิลิโคน (Food grade) มาทดลองใช้ในบ้านนกแอ่นของตัวเอง ด้วยหวังว่านกแอ่นจะตัดสินใจอยู่ขยายเผ่าพันธุ์ในบ้านนกแอ่นของผม แต่ในการผลิตจำเป็นต้องสั่งทำในปริมาณมากจึงทำให้มีรังเทียมส่วนหนึ่งเหลืออยู่ หากท่านใดสนใจสามารถแบ่งไปทดลองใช้ได้นะครับ

รูปถ่ายด้านหน้า


รูปถ่ายด้านบน

สนใจแบ่งทดลองใช้ ราคา 75 บาทต่อรังครับ (ของมีจำนวนจำกัดครับ)
คุณวรชาติ มุนเนียม (คุณวอ) 081-8930221
คุณทรงกลด เจียรนัยศิลป์ (คุณฟู่) 089-1076091

หากบ้านนกแอ่นท่านออกแบบได้ถูกต้องตามพื้นฐานแล้ว องค์ประกอบย่อย ๆ จะช่วยส่งเสริมให้บ้านนกแอ่นท่่านประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นครับ แต่หากองค์ประกอบหลัก ๆ บ้านนกแอ่นท่านยังไม่ดีพอท่านอย่ารีรอที่จะปรับปรุงนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

8/04/2010

ขี้นกแอ่นต้องดูดี

บ้านนกแอ่นใหม่ (New Swiftlet House) ยังมีความแปรปรวนที่บ้านนกแอ่นยังไม่เคยเจออีกมากมาย แสงแดดร้อนจัดหลาย ๆ วัน ร้อนจนตับแลบเป็นเดือน บ้านนกแอ่นท่านอาจเคยเจอมาแล้วหากท่านเปิดบ้านนกแอ่นช่วงฤดูร้อน การแก้ปัญหาเรื่องความร้อนท่านสามารถทำได้หรือรู้ว่าปีหน้าฤดูร้อนท่านจะต้องป้องกันความร้อนอย่างไร แต่ตอนนี้เข้าฤดูฝน สำหรับฝนแรกของบ้านนกแอ่นท่านก็ต้องเก็บข้อมูลอุณหภูมิความชื้นต่อไป นกแอ่นเข้าสำรวจเยอะ เข้า ๆ ออก ๆ ทุกครั้งหลังฝนหยุดตก ชวนให้ท่านยิ้มแย้มกันอย่างมีความหวัง หากบ้านนกแอ่นท่านไม่ติดขัดปัญหาอะไรช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่ชาวนกแอ่นมีโอกาสได้ลูกบ้านเพิ่มขึ้นแน่ ๆ ครับ

สำหรับบ้านนกแอ่นผมก็เพิ่งเปิดมาครบสองเดือนพอดี ทุกครั้งที่ผมเดินเข้าบ้านนกแอ่นก็จะตื่นเต้นลุ้นว่ากองขี้นกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ขี้นกแอ่นหนาขึ้นในกองเดิมหรือไม่ ความรู้สึกนี้คงเป็นกับเจ้าของบ้านนกแอ่นมือใหม่กันทุกคนรวมทั้งผมด้วย เดินสำรวจผ่านกองขี้นกเล็ก ๆ ไฟส่องลงพื้นแล้วส่องขึ้นบนดูว่านกป้ายน้ำลายทำรังกันบ้างหรือยัง จนผ่านไปถึงขี้นกกองใหญ่วันนี้สีของขี้นกเปลี่ยนไป ทำไมเป็นสีเทา ๆ ไม่เป็นสีดำเหมือนทุกครั้ง ก้มลงดูใกล้ ๆ ราขึ้นขี้นกในบ้านแล้วครับ คราวนี้ผมเลยเดินกลับไปดูกองขี้นกอื่น ๆ ราก็เริ่มขึ้นเหมือนกัน สัญญาณเตือนภัยมาแล้วครับ ความชื้นเริ่มสูงเกินไป(นึกในใจงานเข้าจนได้) หากบ้านนกแอ่นท่านไม้ตีรังไม่แห้งพอหรือเป็นไม้เนื้ออ่อนต้องระวังมาก ๆ ครับ

สำหรับผมใช้วิธีระบายความชื้นออก ,ปิดระบบความชื้นและเอาขี้นกที่ขึ้นราออกนอกบ้านก่อนครับ สาเหตุเพราะฝนเจอฝนตกติดกันประมาณ 4-5 วันบวกกับความชื้นจากระบบที่ผมตั้งไว้สูงด้วย ทำให้ความชื้นขึ้นถึง 90%RH ล่าสุดผมเข้าไปดูกองขี้นกแอ่นในบ้านนกตอนนี้ดูดี ดำดี สีไม่ตกแล้วครับ

สำหรับบ้านนกแอ่นใหม่ ๆ ผมก็ยังยืนยันนะครับว่าการเก็บข้อมูลและเฝ้าสังเกตเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ครับ เมื่อไหร่นกแอ่นทำรังเสร็จ วางไข่ เลี้ยงลูก ท่านจะมีโอกาสเข้าบ้านนกแอ่นน้อยลงแน่ ๆ ครับ แต่ตอนนี้บ้านนกแอ่นผมยังไม่มีรังที่นกแอ่นทำเสร็จเลยครับ ผมเลยยังมีโอกาสปรับแต่งบ้านนกแอ่นให้โดนใจนกแอ่นมากที่สุดครับ เมื่อนกแอ่นพอใจเค้าก็จะตอบแทนด้วยการขยายพันธุ์ในบ้านนกแอ่นของท่านครับ


นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

7/18/2010

ฤดูฝนกับอุณหภูมิและความชื้น

ฤดูฝนมาแล้ว เสียงร้องตะโกนในใจของคนหลาย ๆ ที่ได้เข้ามาทำบ้านนกแอ่นพร้อมกับรอยยิ้มและความหวัง ฝนคือแหล่งที่ก่อให้เกิดน้ำ ความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม อาหารของนกแอ่นจะมีมากขึ้นในช่วงนี้ อากาศดีนกแอ่นมีเวลาสำรวจบ้านนกใหม่ ๆ มากขึ้น ดังนั้นช่วงนี้ไม่ว่าบ้านนกแอ่นหลังไหนก็จะมีนกแอ่นมาเล่นเสียงและเข้าสำรวจกันทุกหลัง

หากท่านออกแบบบ้านได้ถูกใจนกแอ่นแบบจัง ๆ แล้ว ผมว่าเป็นช่วงที่นกแอ่นจะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับผมแล้ว การได้เห็นนกแอ่นเข้าสำรวจบ้านเป็นสิ่งที่น่าดีใจมาก ๆ แต่ผมก็ยังคงต้องเช็คพื้นฐานอันดับแรก ๆ ของการสร้างบ้านนกแอ่น นั่นก็คืออุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่น อุณหภูมิ 28 องศา ความชื้น 85 %RH บ้านเราได้หรือไม่ โดยอุปกรณฺ์ที่ผมใช้มีทั้ง data logger และชุดควบคุมที่ผมตั้งตัวเก็บและอ่านค่าได้ที่ห้องควบคุมโดยมีสายเซ็นเซอร์ลากไปยังห้องนกแต่ละชั้น หากอุณหภูมิหรือความชื้นไม่ตรงกับที่ผมต้องการ จะมีการสั่งจ่ายไฟไปยังปลายทางให้เครื่องทำหมอก หรือพัดลมดูดอากาศ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ทำงาน







สำหรับบ้านนกผมแล้วตอนนี้ด้านทิศตะวันออกคือแหล่งแผ่รังสีความร้อนเข้ามาในบ้านนกผม สาเหตุเพราะผมคิดว่าเช้าถึงเที่ยงแดดคงไม่แรง หากแต่ผมคิดผิดพลาดไป หลัง 09.00 ถึง 12.00 บ้านนกผมอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 องศา ในวันที่แสงแดดร้อนจัด เมื่อทราบสาเหตุการแก้ไขจึงควรแก้ที่ต้นเหตุเสมอ อีกไม่นานผมจะทำที่บังแดดเพื่อไม่ให้แสงโดนกำแพงโดยตรง สำหรับช่วงนี้ฤดูฝนทำให้ผมรอดตัวไปครับ หากท่่านกำลังคิดหรือออกแบบบ้านนกแอ่นอยู่ก็อย่ามองข้ามช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยงเหมือนผมนะครับ

หลายท่านคงสงสัยว่าในรูปทำไมจึงมีคำว่า CAM4 คำตอบก็คือผมติดกล้องวงจรปิดไว้ในห้องควบคุมหนึ่งตัวครับ เพื่อดูความเรียบร้อยโดยสามารถดูผ่านอินเตอร์เน็ทได้ครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

7/04/2010

บ้านนกแอ่นเปิดใหม่กับการเข้าตรวจความเรียบร้อย

สำหรับท่านที่ได้ตัดสินใจสร้างบ้านนกแอ่น ทุกท่านต่างก็อยากให้นกแอ่นเข้ามาทำรังในบ้านของท่านมาก ๆ สิ่งไหนที่ทำแล้วรู้สึกว่ารบกวนนกแอ่นต้องทำให้น้อยที่สุด ยิ่งรบกวนนกแอ่นมากนกแอ่นก็จะใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น "บ้านนี้ปลอดภัยหรือเปล่า ทำไมเจอหน้าคนบ่อยจัง"

ส่วนตัวผมแล้วได้ยินได้ฟังมาพอสมควร หากเปิดบ้านให้นกแอ่นเข้าแล้ว ทิ้งเลยอย่าไปรบกวน นกแอ่นจะได้เข้าอยู่เร็ว ๆ หากท่านคิดว่าท่านมีประสบการณ์อยู่เต็มที่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ มีที่ปรึกษาที่เก่งจริง ระบบที่ท่านออกแบบในบ้านนกแอ่นไว้ใจได้ ท่านเปิดบ้านให้นกแอ่นเข้าแล้วปิดทิ้งได้เลยครับ แต่สำหรับผมแล้วยังมีประสบการณ์ไม่มาก การเข้าตรวจสอบในบ้านนกแอ่นเพื่อเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่ผมต้องทำ ดังนั้นผมจึงเข้าบ้านนกแอ่นผมในช่วงแรกสัปดาห์ละครั้งเลยก็ว่าได้ เพื่อเช็คอุณหภูมิและความชื้น บริเวณที่นกตัดสินใจนอนในบ้าน ความเรียบร้อยของระบบและสัตว์ที่จะรบกวนนกแอ่น โดยเลือกเวลาเข้าบ้านนกแอ่นตั้งแต่หลัง 9.00 - 15.00 น. โดยสังเกตจากนกแอ่นด้วยว่ามีบินอยู่บนท้องฟ้ามากไหม ถ้ามีบินอยู่น้อยก่อนเข้าบ้านก็จะปิดเสียงเรียกนอกก่อนประมาณ 10-20 นาทีเพื่อไม่ให้นกแอ่นบินเข้าบ้านขณะผมทำงาน ใช้เวลาทำงานในแต่ละรอบให้น้อยที่สุด

ผลจากที่ได้เข้าบ้านนก ผมเจอความชื้นสูงในช่วงแรก (ทำให้ผมตัดสินใจติดพัดลมดูดอากาศ) ตอนนี้ครบ 1 เดือน ความชื้นอยู่ในระดับปกติพัดลมไม่ทำงานแล้ว แต่ปัจจุบันผมก็ยังเก็บข้อมูลด้วย Data logger เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลบ้านนกแอ่น ส่วนระบบเสียงยังทำงานปกติทั้งเสียงเรียกนอกและเสียงเรียกใน ยังไม่มีศัตรูและสัตว์ีที่จะรบกวนนกแอ่นเข้ามาในบ้าน


กองขี้นกแอ่นที่ใหญ่ที่สุดในบ้านนกแอ่นผมครับ


เชิญชวนร่วมโครงการเปิดเีสียงแต่พอเพียง ลดมลภาวะด้านเสียงให้กับสังคมครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

6/07/2010

การปรับกลิ่นก่อนการเปิดบ้านนกแอ่น

สำหรับบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ที่ได้สร้างเสร็จใหม่ ๆ กลิ่นปูนและฝุ่นปูนเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออก แต่ก็เป็นการยากที่จะกำจัดกลิ่นปูนและฝุ่นปูนออกให้หมด 100% บางท่านใช้การฉีดล้างทั้งหลังผมก็ว่าดีหากว่ายังไม่ได้ตีไม้ตีรัง แต่หากตีไม้ตีรังแล้วและปิดช่องระบายจนเหลือน้อย ๆ ความชื้นที่เป็นผลพลอยได้จากการล้างพื้นอาจทำให้ไม้ท่านขึ้นราได้ครับ หากไม้ที่ใช้ตีรังยังแห้งไม่สนิทหรือเนื้อไม้บางแผ่นไม่ได้เป็นไม้ที่แก่จึงดูดความชื้นเข้าเนื้อไม้จะทำให้เกิดเชื้อราได้ครับ

หลังจากที่ผมได้ทำความสะอาดบ้านแล้ว การปรับกลิ่นเป็นเรื่องสำคัญครับ สำหรับผมแล้วผมเลือกขี้นกเข้ามาปรับกลิ่นก่อนสองวันก่อนเปิด บางท่านอาจจะว่าน้อยไป จริง ๆ แล้วหากท่านปรับกลิ่นได้ยิ่งนานยิ่งดีครับ วิธีการคือการเอาขี้นกใส่กะละมังแล้ววางตามมุมเสาทุกมุมเลยครับ ผลที่ได้คือกลิ่นแอมโมเนียที่น่าพอใจและักระจายอย่างสม่ำเสมอ

ผลจากการปรับกลิ่นหลังจากเปิดบ้านนกแอ่น คืนแรกปรากฏว่านกแอ่นนอนสามจุด คืนที่สองนกแอ่นนอนเพิ่มอีกหนึ่งจุด และภาพขี้นนกในจุดที่นกแอ่นนอนมากที่สุดครับ


นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

5/10/2010

นกแอ่นใจร้อน

เวลาล่วงผ่านจะเข้าฤดูฝนแล้ว บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ของผมเลยกำหนดที่จะแล้วเสร็จมาครึ่งเดือนแล้ว แต่ถึงรีบเร่งยังไงการเช็คระบบให้ดีก่อนการเปิดบ้านนกแอ่นเป็นสิ่งที่ผมนึกอยู่เสมอ แม้ว่าในส่วนลึก ๆ แล้วอยากเปิดบ้านนกแอ่่นเสียวันนี้วันพรุ่งนี้เต็มที่แล้ว ขั้นตอนการฉาบและเทพื้นยังไม่เสร็จ หลังจากเทพื้นและรอให้ปูนแห้งขั้นตอนการล้างเพื่อทำความสะอาดเป็นขั้นตอนที่ผมรอคอยเพราะตอนนี้ไม้ตีรังที่ได้มาแห้งสนิท ไม่ต้องห่วงเรื่องเชื้อราไประดับหนึ่งแล้วครับ

ทำไมผมถึงอยากตีไม้ตีรังเร็ว ๆ เหรอครับ ผมมีคำตอบให้ทุก ๆ ท่านตามวิดิโอครับ



ผมหวังว่านกแอ่นใจร้อนเหล่านี้จะชักชวนเพื่อน ๆ มาสำรวจและมาอยู่อาศัยให้มาก ๆ หลังจากบ้านเสร็จสมบูรณ์

ขอเน้นอีกครั้งนะครับ ท่านอย่าลืมเช็คระบบให้ดีก่อนการเปิดบ้านนกใหม่ หากระบบในบ้านนกแอ่นยังไม่สมบูรณ์แล้วท่านเปิดบ้านนกแอ่นเพราะคิดว่าคงไม่เป็นไรค่อยแก้ตอนหลัง หากท่านรู้ว่าต้องแก้สิ่งไหนในบ้านนกแอ่นก่อนเปิดขอให้ท่านแก้ไขก่อนดีกว่าครับ(ยกเว้นว่ายังไม่รู้สาุเหตุ) การแก้ไขหลังเปิดบ้านนกแล้วผมว่าจะกระทบกับนกแอ่นที่เข้าอาศัยอยู่ก่อนได้นะครับ

หากระบบในบ้านนกท่านดีกว่าบ้านนกแอ่นข้าง ๆ แล้ว โอกาสที่นกแอ่นจะตัดสินใจนอนอย่างถาวรเป็นของท่านแล้วครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

4/25/2010

ฤดูร้อนกับอุณหภูมิในบ้านนกแอ่น

ฤดูร้อนเป็นโอกาสที่ดีในการทดสอบบ้านนกแอ่นของท่านครับ หากใครเปิดบ้านนกแอ่นในช่วงฤดูฝนท่านสอบผ่านง่าย ๆ ครับ แต่หากใครเปิดบ้านนกแอ่นในช่วงฤดูร้อนแล้วท่านสามารถควบคุมอุณหภุมิได้ไม่เกิน 30 องศา ท่านไม่ต้องห่วงอุณหภูมิในบ้านนกแอ่นท่านในช่วงฤดูอื่น ๆ เลยครับ สำหรับผมแล้วอุณหภูมิที่ผมวัดได้ค่อนข้างพอใจครับ ภาพที่ผมลงให้ท่านได้ดูเป็นแนวทางคือ
ภาพแรกเป็นผนังด้านนอกทิศตะวันตกที่รับแสงโดยตรง
ภาพที่สองเป็นผนังด้านในทิศตะวันตก
และภาพที่สามเป็นภาพผนังชั้นที่สองด้านในของทิศตะวันตกครับ




สำหรับผมแล้วผมเลือกวิธีการก่อกำแพงสองชั้นด้านที่รับแสงโดยตรง แต่หากท่านมีงบประมาณเพียงพอ ท่านสามารถก่อกำแพงสองชั้นได้รอบตึกเลยครับ ผลที่ได้น่าจะดีกว่านี้แน่ ๆ ครับ หากแต่ท่านอย่าลืมควบคุมการไหลเวียนของอากาศด้วยนะครับ ความสมดุลเกิดในบ้านนกแอ่นท่านเมื่อไหร่ โอกาสท่านก็จะมีมากขึ้นครับ


นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

4/18/2010

ไม้ตีรังสำหรับนกแอ่นมาแล้ว

ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นกำลังเข้าใกล้มาแล้วครับ วันนี้ไม้ตีรังเรือนหอสำหรับนกแอ่นที่ผมเลือกได้เดินทางมาถึงแล้ว โดยไม้ที่ผมเลือกใช้คือไม้สยาหิน ขนาด 1"x8" เซาะร่องทั้งหมดแปดร่องดูแล้วก็ไม่มากไม่น้อยครับ


รถที่ส่งไม้ไม่มีคนงานมาด้วยต้องจัดหาคนสำหรับลงเอง รวมทั้งตัวผมเองด้วย เหนื่อยแต่ก็เต็มใจและลงไม้ที่จะเป็นเรือนหอให้นกแอ่นอย่างตั้งใจ ภาพของไม้ที่กำลังรอจัดเรียงและจัดเรียงแล้วบางส่วนครับ


ไม้ที่ผมสั่งมาไม่ไ้ด้ลงหน้างานครับ เพราะยังมีฝุ่นปูนซึ่งเป็นฝุ่นที่นกแอ่นไม่ชอบมาก ๆ หากท่านหลีกเลี่ยงได้หรือหาที่เก็บไม้ที่ไม่ใช่หน้างานได้จะดีมาก ๆ ครับ ท่านควรนำไม้เข้าบ้านนกแอ่นหลังล้างฝุ่นปูนเรียบร้อยแล้วดีที่สุดครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

4/08/2010

อุปกรณ์เปิด-ปิดเครื่องเสียงในบ้านนกแอ่นตอนที่ 2 (Timer)

เพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์เปิด-ปิดเครื่องเสียงอีกนิดหน่อยครับ เนื่องจากหลาย ๆ ท่านที่ได้ลงทุนทำบ้านนกแอ่นนั้นไม่ได้อยู่ใกล้กับที่ัพักอาศัย ดังนั้นการเลือก Timer ให้มีคุณภาพและหน้าที่ครบถ้วนตามคุณสมบัติที่ต้องการมีความสำคัญอย่างมาก



วันนี้ผมเลยแนะนำ Timer อีกรุ่นที่มีระบบสำรองไฟซึ่งเหมาะกับเสียงเรียกนอก(External sound) สำหรับในรูปที่ผมเอามาใ้ห้ดูเป็นตัวอย่างนั้น เมื่อไฟด้บนาฬิกาจะยังเดินต่อไปได้อีกประมาณ 3 วัน เมื่อไฟติดหากถึงเวลาที่ต้องปิดเสียงเรียก เครื่องเสียงของท่านก็จะไม่ทำงาน ท่านลองคิดดูหากท่านอยู่ไกลและเลือกใช้ Timer ที่ไม่มีระบบไฟสำรอง วันใดวันหนึ่งเกิดไฟดับไปสัก 2 ชั่วโมง(นาฬิกาหยุด 2 ชั่วโมง) จากที่ท่านตั้งเวลาให้ปิดเสียงเรียกนอก 19.00 น. เสียงเรียกนอกจะไปปิดตอน 21.00 น. หากบ้านนกท่านอยู่หลังเดียวไม่ได้สร้างในเมืองคงไม่เท่าไหร่ แต่หากอยู่ในเมืองเกิดปัญหากับทางเพื่อนบ้านได้นะครับ

Timer มีให้ท่านเลือกมากมาย ทั้งแบบอนาลอคและแบบดิจิตอล สำหรับแบบดิจิตอลจะสามารถตั้งเวลาได้ละเอียดมากกว่า แต่ราคาก็จะแพงกว่าด้วยเช่นกันครับ



ภาพด้านบนคือตู้ควบคุมเล็ก ๆ ที่ผมได้ลองประกอบขึ้นมาครับ ทดสอบแล้วใช้ได้ดีรอให้บ้านนกเสร็จจะได้นำไปติดตั้งที่ห้องควบคุมครับ

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

3/30/2010

อุปกรณ์เปิด-ปิดเครื่องเสียงในบ้านนกแอ่นตอนที่ 1 (Timer)

สำหรับอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) คือตัวตั้งเวลาในการเปิดหรือปิดเครื่องเสียงของท่าน โดยปกติแล้วสำหรับเสียงนอก(External Sound) จะเปิดเวลาประมาณ 05.30 น. และจะปิดในเวลา 19.00 น. หรือในบางบ้านจะเปิดเสียงเรียกนอกในตอนเช้า กลางวันปิดอาจเพราะไ่ม่อยากให้เสียงดังทั้งวัน (อาจเป็นเพราะเพื่อนบ้านบ่นมาประมาณนี้) แล้วเปิดเสียงอีกครั้งช่วงบ่ายถึงค่ำเลยครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ Timer ในการเปิดเครื่องเสียง เป็นหลัก ยกเว้นหากท่านอยู่ใกล้ ๆ และขยันเปิด-ปิดทุกวัน พอได้เวลาก็เปิด ถึงเวลาก็ปิดเอง

ตัวอย่าง Timer ครับ


Timer สำเร็จรูปแบบนี้หาได้ไม่ยากครับ มีหลายราคาขึ้นกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ขออย่างเดียวให้เวลาเดินตรงเป็นใช้ได้ครับ ไม่ใช่วันนี้ตั้งเวลาไว้ตรง ผ่านไปอีก 7 วัน เดินเร็วไป 1 ชั่วโมง ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าไม่ผ่านครับ

ส่วนเรื่องเสียงเรียกใน (Internal Sound) ปกติแล้วจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง หากท่านเปิดด้วยแอป์มตัวเดียวตลอดเวลาทั้งวันเป็นเวลาแรมเดือนแรมปีแล้ว อาจส่งผลให้เครื่องเสียงท่านเสียหรือหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าเวลาอันควร ดังนั้นหลาย ๆ ตำราจึงแนะนำให้ใช้แอป์มสองตัวสลับกันทำงาน โดยอาจสลับกันทุก 2 ชั่วโมง ,4 ชั่วโมง,6 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง ซึ่งท่านจะสามารถสลับให้เครื่องเสียงทำงานได้โดยใช้ Timer สองตัวตั้งเวลาให้สลับกันทำงานได้ แต่หาก Timer ที่ท่านใช้เดินไม่ตรงกันก็จะมีช่วงเวลาที่เครื่องเสียงทำงานไม่ต่อเนื่องกันครับ

ตอนนี้ผมเลยลองหาวิธีที่จะใช้ Timer มาต่อกับตู้ควบคุม หลักการง่าย ๆ คือตู้นี้จะมีปลั๊กเสียบสองปลั๊ก โดยมี Timer เป็นตัวสั่งจ่ายไฟไปในแต่ละปลั๊กสลับกันตามเวลาที่เราได้ตั้งไว้ เช่น 2 ชั่วโมงแรกจ่ายไฟไปยังปลั๊กที่ 1 พอ 2 ชั่วโมงต่อมาจะตัดไฟปลั๊กที่ 1 และจ่ายไฟไปยังปลั๊กที่ 2 สลับกันไปเรื่อย ๆ วิธีนี้จะทำให้เครื่องเสียงท่านทำงานต่อเนื่องกันได้ตลอดเวลาและคิดว่าเครื่องเสียงท่านน่าจะมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นครับ

ตัวอย่างตู้ควบคุมเล็ก ๆ พร้อมอุปกรณ์ที่ผมจะประกอบครับ


ผมทดลองต่อไฟและทดสอบดู ใช้งานได้ดี เหลือแต่ประกอบลงตู้ครับ


ชุดควบคุมนี้สำหรับผมแล้วคิดว่าไม่แพงครับกับผลที่ได้ ท่านลองถามหาได้ตามร้านขายอิเล็คโทรนิคดูได้ครับ รวมหมดทุกอย่างไม่เกิน 1,500 บาท

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม