1/31/2010

เชื้อราบนไม้ตีรัง ตอนที่ 2

เมื่อท่านได้รู้จักกับเชื้อรา (Fungi) ประเภทต่าง ๆ แล้ว คราวนี้เรามาดูกันนะครับว่าจริง ๆ แล้วเชื้อราจะเกิดขึ้นต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง และปัจจัยแรก ๆ ที่เชื้อราถามหาครับ เพื่อท่านจะได้ป้องกันไม่ให้เชื้อรามายุ่งเกี่ยวกับบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ที่ท่านได้ลงทุนสร้างขึ้นมาครับ

วันนี้เลยชวนท่านมารู้จักปัจจัยแรกสุดที่เชื้อราต้องการมาก ๆ คือ Water Activity (Aw) ค่านี้มีความสำค้ญอย่างไร คำตอบคือค่า Aw เป็นค่าที่บ่งบอกได้ครับว่า ไม้ของท่านมีโอกาสขึ้นราได้มากน้อยแค่ไหน หลาย ๆ ท่านคงคิดว่าความชื้นสิ ยิ่งความชื้นมาก โอกาสที่ราจะขึ้นก็มีมาก สำหรับความชื้นแล้วเป็นเพียงแค่อีกองค์ประกอบครับที่จะทำให้ราขึ้น

ความแตกต่างสำหรับความชื้นและ Aw สำหรับการตากไม้ให้แห้งหรืออบแห้งถือว่าเป็นการลดค่้า Aw แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการลดความชื้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากน้ำในไม้มี 2 ประเภท คือ น้ำที่เกาะติดกับเนื้อไม้หรือสร้างพันธะกับเนื้อไม้ และน้ำอิสระ(Aw) ที่ไม่ได้สร้างพันธะใด ๆ กับเนื้อไม้ โดยจะอยู่ระหว่างเนื้อไม้ ดังนั้น ปริมาณความชื้นในเนื้อไม้ทั้งหมด (Moisture Content หรือ MC ) จะมาจากน้ำทั้งสองประเภท ขณะที่ Water Activity เป็นน้ำอิสระที่พร้อมจะระเหยออกไป น้ำส่วนนี้เองครับ เป็นน้ำที่เชื้อรานำมาใช้ในการเจริญเติบโต เพราะเป็นน้ำอิสระ ซึ่งถ้าค่า Aw สูง โอกาสที่ไม้ของท่่านจะขึ้นราก็จะมากตามไปด้วยครับ โดยจะมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อุณหภูมิ และความชื้น ในบ้านนกของท่านหรือในโรงเก็บไม้ของท่านนั่นเองครับ

สำหรับการลด Water Activity ในเนื้อไม้ ท่านควรนำไม้ที่ได้มาตากให้แห้งก่อนขึ้นตีรังครับ หรือสั่งโรงไม้ให้อบแห้งมาให้เลย เป็นการป้องกันที่ดีที่สุดครับ โดยเชื้อราจะเกิดขึ้นได้น้อยมากที่ค่า Water Activity ต่ำกว่า 7 ซึ่งค่านี้จะรู้ได้อย่างไร เอาเป็นว่าถ้าท่านได้ไม้สดมาหลังจากเซาะร่องแล้ว การวางไม้เพื่อรอตีรังควรวางให้ถูกวิธีนะครับ ที่สำคัญเลยคืออย่าวางซ้อนกันโดยไม่มีไม้ขั้นกลาง หลักการนี้เพื่อให้อากาศถ่ายเทให้สะดวก น้ำระหว่างเนื้อไม้ค่อย ๆ ระเหยออก ถ้าวางในห้องที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกก็ประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าในห้องที่ร้อนหน่อย อากาศถ่ายเทได้มากหน่อย ครึ่งเดือนก็แห้งพอควรแล้วครับ หลังจากนั้นท่านก็สามารถนำไม้ตีรังขึ้นตีรังได้อย่างสบายใจระดับหนึ่งแล้วครับ เชื้อราจะรุกรานได้ยากหน่อยแล้ว แต่ยังมีนะครับ ยังมีเรื่องความชื้นอีกเรื่องครับ โดยเฉพาะเครื่องที่แรงได้ใจนั่นแหละครับ ตัวดีเลย พ่นจนไปถึงไม้หรือความชื้นมากเกินไป (สำหรับตัวผมถ้าเกิน 85%RH ถือว่าเสี่ยงสูงครับ) น้ำจะกลับไปแทรกอยู่ระหว่างเนื้อไม้อีกรอบ แต่การกลับมาของน้ำครั้งนี้จะอยู่ที่พื้นผิวของไม้ลึกไปไม่เกินครึ่งเซ็นติเมตรครับ เมื่อน้ำกลับเข้าเนื้อไม้แล้ว เชื้อราก็กลับมาหาท่านได้เหมือนกัน

พูดมาซะยาวขอสรุปสั้น ๆ นะครับ ไม้ขณะรอตีรังต้องไม่วางซ้อนกันโดยไม่มีไม้ขั้นระหว่างแผ่นและต้องเป็นไม้ที่ผ่านการตากแห้งหรืออบแห้งมา อุณหภูมิในบ้านต้องไม่ร้อน ยิ่งร้อนราก็โตเร็ว และอากาศในบ้านนกแอ่นของท่าน ต้องถ่ายเทดีในระดับหนึ่งนะครับ ราชอบครับ อับ ๆ ชื้น ๆ แต่อย่าให้ถ่ายเทดีจนขนนกปลิวในบ้านนกนะครับ จะถ่ายเทดีเกินไปหน่อยครับ อย่าลืมด้วยว่าลูกนกแอ่นก็ไม่ชอบลมเหมือนกัน สุดท้ายท่านต้องหาความสมดุลในบ้านนกแอ่นท่านให้ได้นะครับ




ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.g-u-p-p-y.com/viewthread.php?tid=238

หวังว่าคงเป็นข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันเชื้อราได้นะครับ แต่หากเชื้อราเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่าไรดี ขอเป็นบทความต่อไปนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

No comments:

Post a Comment