10/15/2010

ไม้ปิดมุมกับบ้านนกแอ่นเปิดใหม่

การทำบ้านนกแอ่นไม่มีสูตรตายตัว เทคนิคที่ใช้ได้ดีกับบ้านนกแอ่นหลังนี้ แต่เมื่อนำไปใช้กับบ้านนกแอ่นอีกหลังอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ สำหรับบ้านนกแอ่นที่ผมสร้างขึ้นยังมีจุดบกพร่องที่ผมเห็นแล้วต้องปรับปรุงอยู่เสมอ โดยไม่รีรอหรือรอความหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ผ่านจากเรื่องลำโพงเสียงเรียกใน หลังจากผมเปลี่ยนทั้งหลังโดยไม่ลังเล ปรากฏว่าตอนนี้นกแอ่นได้ไปเริ่มทำรังเพิ่มที่ลำโพงเสียงในแล้วจำนวน 7 รัง และไปเกาะนอนตรงลำโพงในอีก 15 จุด ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนซึ่งอีกไม่นานคงเริ่มทำรังครับ ซึ่งจากเดิมที่นกแอ่นไม่เคยสนใจจะเหลียวเลลำโพงเสียงเรียกในเลยตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรก

ตอนนี้มาถึงคิวของไม้ปิดมุม จากที่ผมศึกษามาและเริ่มสร้างบ้านนกแอ่นผมตัดสินใจจะไม่ใช้ไม้ปิดมุม ซึ่งมาจากหลายเหตุผล เช่น นกแอ่นชอบมุมมาก ,ต้นทุนสูงขึ้น ,รังก็ยังเป็นรังมุมอยู่ดี ,แถมที่สำคัญคือเรื่องแมลงที่จะไปหลบอยู่ระหว่างช่องว่างระหว่างไม้ปิดมุม โดยเฉพาะแมลงสาปตัวร้ายครับ (ผมให้ความสำคัญเรื่องสัตว์รบกวนอันดับต้น ๆ) โดยตอนที่ช่างตีไม้จะพยายามเน้นไม่ให้มีช่องว่างระหว่างไม้ที่ต่อกันครับ แต่ไม่ว่าการทำสิ่งใด ๆ ไม่มีอะไร 100 % ง่าย ๆ ครับ ยังไงในบ้านนกแอ่นผมก็จะมีช่องว่างระหว่างรอยต่อของไม้คั่นกับไม้แนว




และจากภาพที่เห็นด้านบนนกแอ่นเริ่มมาทำรังตรงมุมนี้แล้วด้วย ทำให้นกแอ่นต้องเสียเวลาในการเอาน้ำลายตัวเองมาอุดช่องว่างของรอยต่อของไม้บริเวณนี้ด้วยแน่ ๆ ทำให้ระยะเวลาในการทำรังของนกแอ่นก็จะนานขึ้น ซึ่งถามว่าทำไมนกแอ่นถึงต้องอุดช่องว่างเหรอครับ ก็เป็นเพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ๆ อีกเช่นกันครับ

เมื่อผมเห็นปัญหา ด้วยความที่กลัวจะไม่มีงานทำมั่งครับ ผมคิดว่าต้องหาไม้มาปิดมุมแต่ไม้ปิดมุมที่ปิดแล้วมีช่องว่างระหว่างมุมผมไม่เอาด้วยแน่ ๆ จนตอนนี้ผมได้สิ่งที่ผมต้องการแล้วครับคือไม้ที่จะมาปิดมุมในแบบที่ผมต้องการ โดยเป็นไม้มุมที่ผลิตจากไม้สยาแดงจากโรงไม้ที่มีความชำนาญเรื่องไม้ตระกูลสยาในประเทศมาเลเซีย และเป็นไม้อันดับแรกที่คนที่ทำบ้านนกแอ่นได้ใช้กันมาอย่างยาวนานและได้ผลที่ดี งานนี้ผมคงต้องใช้เวลาอีกหลายวันในการติดไม้มุม โดยถ้ามุมไหนนกแอ่นทำรังไปแล้วก็ต้องรอให้นกแอ่นวางไข่จนกระทั่งลูกนกแอ่นบินออกไปผมถึงจะปิดมุมนั้นได้ครับ


อีกเหตุผลในการติดไม้มุมของผมคือน้ำหนักของเนื้อรังนกแอ่นที่ได้ครับ เพราะหลังจากผมได้พบปะพุดคุยกับบุคคลหลาย ๆ คนในวงการนกแอ่น การพัฒนาเพื่อให้รังนกแอ่นคุณภาพดีโดยที่คิดจำนวนรังยังเท่าเดิม รายได้ของท่านก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนครับ ตัวอย่างเช่น


รังมุมที่เป็นมุมฉาก จำนวนรังต่อกิโลกรัมประมาณ 180-240 รัง ราคาต่อกิโลกรัม 37,000 บาท
รังมุมที่ปิดมุมโค้ง จำนวนรังต่อกิโลกรัมประมาณ 160-180 รัง ราคาต่อกิโลกรัม 39,000 บาท
รังถ้วย
จำนวนรังต่อกิโลกรัมประมาณ 110-120 รัง ราคาต่อกิโลกรัม 45,000 บาท

คำนวณง่าย ๆ เลยครับ คิดเฉพาะรังมุมที่เป็นมุมฉากหากท่านมีรังนกที่เป็นรังมุมฉาก 240 รัง ท่านขายได้ 37,000 บาท แต่ถ้าเป็นรังรูปโค้งท่านจะได้เนื้อรังมากขึ้น ทำให้จำนวนรังนกแอ่นต่อกิโลกรัมจะลดลง และหากท่านมีรังนกแอ่น 240 รังเหมือนกัน ท่านจะได้น้ำหนักเพิ่มเป็น 1.3 กิโลกรัม X 39,000 บาท = 50,700 บาท สำหรับรังนกแอ่นที่เป็นรังมุมเพียง 240 รัง ท่านก็ได้ส่วนต่างถึง 13,700 บาทแล้วครับ และท่านลองคิดดูนะครับว่าในบ้านนกแอ่นท่านมีมุมทั้งหมดกี่พันมุมสำหรับบ้านนกแอ่่นขนาดกลาง เพราะหลังใหญ่ ๆ ผมว่าน่าจะมีเป็นหมื่นมุมเลยหละครับ สำหรับตัวผมแล้วคิดว่าคุ้มค่ามาก ๆ ครับสำหรับการลงทุนครั้งนี้

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

No comments:

Post a Comment