2/07/2010

การบันทึกข้อมูลในบ้านนกแอ่น

การบันทึกข้อมูลในบ้านนกแอ่นของท่านเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ ทั้งก่อนและหลังเปิดบ้านนกแอ่น

ก่อนเปิดบ้านนกแอ่น
อุณหภูมิ ได้ 27-31 องศาได้หรือไม่ และได้ทั้งวันเลยหรือเปล่า หากอุณหภูมิไม่ได้หาสาเหตุให้เจอ
ความชื้น 75 - 85%RH ได้หรือไม่ สูงสุดตอนกี่โมง ต่ำสุดกี่%RH ความชื้นไม่ได้ต้องหาสาเหตุ
แสงสว่าง สว่างเกินไปหรือไม่ หาสาเหตุไม่ยาก

หลังเปิดบ้านนกแอ่น
การบันทึกข้อมูลในแต่ละเดือนในปีนั้น ๆ จะเป็นแนวทางให้ท่านดูแลบ้านนกแอ่นของท่านได้ดียิ่งขึ้น เช่น ท่านจะรู้ได้พอเป็นแนวทางว่าปีหน้าในเดือนนี้จะมีอุณหภูมิเท่าไหร่ ควรเปิดเครื่องทำความชื้นกี่ตัว นานกี่ชั่วโมง ท่านจะทราบว่าท่านควรทำยังไงก่อนที่จะถึงเดือนนั่น ๆ ในปีต่อ ๆ ไป

สิ่งสำคัญที่ท่านไม่ควรพลาดคือ ก่อนเปิดบ้านนกแอ่นครับ หากท่านยังควบคุมอะไรไม่ได้เลย ความชื้นยังแกว่ง อุณหภูมิในแต่ละวันช่วงที่ร้อนมากที่สุดและช่วงที่เย็นมากที่สุดมีอุณหภูมิต่างกันเกิน 3-4 องศา หากท่านรีบเปิดบ้านนกแอ่น แล้วคิดว่าค่อย ๆ แก้ไปพร้อม ๆ กับเรียกนกแอ่น ผมว่าท่านคิดผิดนะครับ ท่านยอมเสียเวลาอีกนิด ทำบ้านนกแอ่นให้ได้พื้นฐานที่ถูกต้อง เมื่อท่านเปิดบ้านนกแอ่นแล้วจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ มาให้ท่านแก้ไข

ตัวอย่างเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นที่ผมเลือกใช้
1.แบบทั่ว ๆ ไป จะดูอุณหภูมิหรือความชื้นช่วงไหนก็ต้องดูตอนนั้นและจดบันทึกเอง


2.เครื่องบันทึกอุณหภูมิและความชื้นที่เป็น datalogger สามารถนำเข้าไปวัดในบ้านนกแอ่นและนำกลับมาเสียบกับคอมที่บ้าน จะแสดงผลเป็นกราฟได้ท่านดูได้ครับ


ตัวอย่างผลการบันทึกอุณหภูมิและความชื้น ท่านไม่ต้องตกใจครับ กราฟที่แสดงเป็นอุณหภูมิและความชื้นในบ้านผมเองครับไม่ใช่ในบ้านนกแอ่น ซึ่งในบ้านมีแค่ตู้ปลาทะเลที่เปิดพัดลมเล็ก ๆ สองตัว หน้าฝนกับตอนนี้ %RH ต่างกันครับ โดยในหน้าฝน %RH ในบ้านผมถึง 85% เลยครับ เส้นสีแดงในกราฟเป็นอุณหภูมิ ส่วนเส้นสีน้ำเงินเป็น %RH ครับ สำหรับผมแล้วข้อมูลเหล่านี้คิดว่าสำคัญมาก ๆ ครับ

ในกราฟตัวอย่างท่านอาจเห็นว่าช่วงเริ่มบันทึกถึงเวลาประมาณ 18.30 %RH ลด จริง ๆ แล้วเป็นช่วงเวลาที่ผมอยู่บ้านครับ เปิดประตูบ้านทำให้ความชื้นลด แต่หลังจากนั้นปิดยาวเลยครับ ความชื้นก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนไปถึงประมาณ 73%RH ครับ

สำคัญสุดคือท่านต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับบ้านนกแอ่นของท่านให้มากที่สุด ปัญหาที่ตามจะลดลงไปมากเช่นกัน โอกาสที่จะได้นกแอ่นมาอาศัยก็สูงกว่าบ้านหลังอื่นครับ

การบันทึกข้อมูลในบ้านนกแอ่นยังมีอีกหลายหัวข้อตามที่ผมได้คิดไว้ หากแต่ต้องรอบ้านนกแอ่นของผมให้เป็นรูปเป็นร่างก่อนแล้วจะนำมาเสนอต่อไปนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

2/03/2010

เชื้อราบนไม้ตีรัง ตอนที่ 3

ตอนนี้ก็คงเป็นตอนจบของเรื่องเชื้อราแล้วครับ จริง ๆ แล้วเชื้อราในธรรมชาติมีประโยชน์หลาย ๆ อย่างโดยหน้าที่หลัก ๆ ของเชื้อราคือ การช่วยย่อยสารอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ใบไม้ ต้นไม้ หรือขยะ แต่หากเชื้อราเกิดขึ้นในบ้านนกแอ่นแล้วจะเกิดอะไร ทุกอย่างมีสองด้านเสมอครับ เมื่อมีประโยชน์แต่อีกด้านของเชื้อราคือ การสร้างสารพิษ(Toxin) หรือ สปอร์ของเชื้อรา ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ นกแอ่นคงรู้ได้เช่นกันครับ หากเชื้อรามาอยู่ใกล้ ๆ ย่อมไม่ปลอดภัย ไม่อยากให้ร่างกายอ่อนแอ หาที่อยู่ใหม่ดีกว่า ลูกหลานได้แข็งแรง

หากสิ่งที่ท่านไม่อยากให้เกิดได้เกิดขึ้นแล้วในบ้านนกแอ่นท่าน เชื้อรามาเยือน สิ่งแรกที่ท่านต้องทำคือการลดความชื้น เพิ่มการระบายอากาศในบ้านนกแอ่น ให้หมุนเวียนมากขึ้น แล้วท่านก็มาหาสาเหตุว่าเชื้อรามาจากสาเหตุอะไร เช่น

1.ความชื้นสูงไป (>90%RH) เปิดเครื่องพ่นหมอกมากไป เปิดพัดลมเป่าลงน้ำมากไป หรือวิธีที่ท่านได้คิดค้นขึ้นเพื่อเพิ่มความชื้นในบ้านนกแอ่น ถ้าหากตรงนี้เป็นสาเหตุ รีบลดเลยครับ

2.ไม้แห้งหรือไม้สด ถ้าเป็นไม้สดโอกาสเกิดเชื้อราสูงมากครับ เพราะ Aw (น้ำอิสระ) ในเนื้อไม้ยังมีสูง เชื้อราจะใช้ในการเจริญเติบโต หากเป็นไม้ที่ผ่านการตากแห้งแล้ว ค่า Aw ที่เนื้อไม้ลดลง แต่หากความชื้นสูงและเปิดเครื่องทำความชื้นแรง ๆ ไม้ที่แห้งแล้วก็เป็นเชื้อราได้บนผิวไม้ ถ้าหากท่านจะตีไม้ตีรังอย่าลืมทำให้แห้งก่อนนะครับ แต่หากตีไปแล้วท่านควรปล่อยให้แห้งก่อน ระบายอากาศดี ๆ แล้วค่อยเปิดบ้านนก ยอมเสียเวลาตรงนี้ดีกว่ามาแก้ทีหลังครับ

3.ความชื้นไม่สูง ไม้ก็แห้งแล้ว ตั้งแต่เปิดบ้านนกมาไม่มีราเลย วันดีคืนดีราขึ้นได้อย่างไร ถ้าหากช่วงนั้นฝนตกหนัก ๆ ติดกันหลาย ๆ วัน ท่านอย่าลืมเช็คความชื้นในบ้านนกแอ่นด้วยนะครับ สูงเกิน 90%RH เมื่อไหร่ ต้องรีบลด เชื้อรายืนรออยู่หน้าบ้านท่านแล้ว

4. ชนิดของไม้ สำหรับไม้ที่ท่านเลือกมาใช้ในบ้านนกแอ่น หากท่านเลือกไม้เนื้ออ่อนความเสี่ยงก็จะมากขึ้นเพราะไม้เนื้ออ่อนเมื่อแห้งแล้ว แต่ไปอยู่ในที่ที่ความชื้นสูง ๆ มีเครื่องพ่นหมอก(บางเครื่องพ่นน้ำ) น้ำจะกลับเข้าผิวไม้ได้ง่ายคือวัสดุอุ้มน้ำได้ง่าย เชื้อราก็จะขึ้นเพื่อทำหน้าที่ของเค้าคือย่อยสลายไม้ แต่หากท่านเลือกไม้ที่เนื้อแข็งขึ้น น้ำจะกลับเข้าไปที่ผิวไม้ได้ช้ากว่าและน้อยกว่า โอกาสราขึ้นก็จะน้อยลง สำหรับไม้ที่แนะนำสำหรับบ้านนกแอ่นคือไม้สยาหิน หรือสยาแดง เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง (ไม้เนื้อแข็งนกแอ่นเกาะยาก ไม้เนื้ออ่อนนกแอ่นเกาะง่าย และไม่ว่าเป็นไม้ชนิดใดต้องไม่มีกลิ่น) หากท่านเลือกไม้ที่แก่ได้ยิ่งดีครับ เนื้อไม้จะแข็งกว่าไม้ที่อายุยังน้อย หากท่านรู้ว่าไม้ที่ท่านเลือกมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนแล้ว ท่านจะได้ระวังเรื่องเชื้อราอีกทางครับ

การแก้ปัญหาเรื่องเชื้อรา หลังจากท่านลดความชื้น ระบายอากาศได้ดีแล้ว น้ำบนผิวไม้หมดไปเชื้อราก็จะตายไปเองครับ หลังจากนั้นก็ใช้แปรงทองเหลืองขัดออก แต่หากต้องการความรวดเร็วกว่านั้น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราก็เป็นสิ่งจำเป็นครับซึ่งต้องทำไปพร้อม ๆ กับการลดความชื้นและระบายอากาศ หลังจากนั้นการควบคุมความชื้นและการระบายอากาศให้ดี จะลดปัญหาเรื่องเชื้อราที่จะกลับมาได้ระดับหนึ่งครับ อย่าลืมนะครับว่าเชื้อราท่านไม่มีทางทำให้หมดไปได้เพราะเป็นเชื้อที่พบอยู่ทั่วไป การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ ถ้าหากท่านมีการบันทึกข้อมูลในแต่ละช่วงในแต่ละเดือนของปีนี้ ปีหน้าท่านจะมีแนวทางในการบริหารบ้านนกแอ่นของท่านครับ

หากท่านป้องกันปัญหาเรื่องเชื้อราได้ บ้านนกแอ่นของท่านก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ขอให้บ้านนกแอ่นของท่านมีนกแอ่นมาก ๆ ได้รังนกเยอะ ๆ นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม