12/27/2009

อะไรสำคัญที่สุด ตอนที่ 2

สำหรับผู้สนใจบ้านนกแอ่น วันนี้ผมพาท่านมาดูวัดช่องลมตอนที่ 2 ครับ หลังจากตอนที่แล้วเป็นภาพนิ่งคราวนี้ผมได้แวะไปถ่ายเป็นภาพเคลื่อนไหวลองดูกันนะครับ

นกแอ่นกำลังบินวนก่อนออกจากโบสถ์ครับ



ลูกนกแอ่นกำลังหัดบิน เผื่อใครยังไม่เห็นเพราะผมก็เพิ่งเห็นจริง ๆ ชัด ๆ เหมือนกันครับ



ภาพนกแอ่นกำลังบินออกจากโบสถ์ครับ



หากท่านพอมีเวลาก็ลองแวะไปดูนกแอ่นจริง ๆ ได้นะครับ
สำหรับนกแอ่นแล้ว ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญไม่รองจากปัจจัยอื่น ๆ เลยครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/26/2009

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์ คือ สิ่งสำคัญที่นักทำบ้านนก ควรจะเข้าใจ อย่างถ่องแท้ มิฉะนั้นสารพัดปัญหาจะตามมา


ความชื้นสัมพัทธ์คืออะไร
คือปริมาณหรือน้ำหนักของน้ำที่ อากาศอุ้มไว้ได้ โดยที่ยังไม่เป็นหยดน้ำ ที่อุณหภูมิสูงอากาศก็อุ้มน้ำได้มากขึ้น ที่อุณหภูมิต่ำ อากาศ ก็อุ้มน้ำได้น้อยลง ดูกราฟด้านบนอากาศที่อุ้มน้ำไว้นี้ หากยังไม่เกิน 100 %RH จะเบากว่าอากาศ (ถ้าสงสัยว่าทำไม ต้องอธิบายอีกยาว) มันคือ สาเหตุที่ทำให้ อากาศสามารถอุ้มน้ำแล้วลอยขึ้นข้างบนจนเป็นเมฆ เมื่อไรที่ปริมาณน้ำนี้มากเกิน 100%RH หรือที่เรียกว่า ถึงจุด ดิวพอยท์ น้ำก็จะรวมตัวกันเป็นหยดน้ำ ตกลงมาเป็นฝน

แล้วเกี่ยวกับบ้านนกอย่างไร บ้านนกที่อยู่ในที่ อากาศไม่ร้อนมาก มีฝนตกชุก เช่นทางภาคใต้ของไทย แทบไม่ต้องทำอะไร ความชื้นก็ เกือบๆจะถึง 80%RH อยู่แล้วแค่ใส่อ่างน้ำ หรือ เครื่องพ่นหมอก นิดหน่อยก็ได้ความชื้นที่ต้องการแล้ว เพราะที่อุณหภูมิต่ำ(สมมุติที่ 28องศา) อากาศอุ้มน้ำได้ไม่มาก(เพียง~25กรัมต่อ อากาศ 1 กิโลกรัม) ก็จะได้ความชื้นสัมพัทธ์ 100%RH แล้ว แต่ในที่อุณหภูมิสูง(สมมุติที่ 35องศา) อากาศอุ้มน้ำได้มาก (เกือบ 40 กรัมต่อ อากาศ 1 กิโลกรัม) ถึงจะได้ความชื้นสัมพัทธ์ 100%RH

ในที่ที่อากาศร้อน ฝนก็ไม่ค่อยตก เช่นทางภาคกลางและภาคเหนือ เราก็เลยมักจะวัดค่า ความชื้นสัมพัทธ์ได้ต่ำต้องพ่นหมอกกันเป็นการใหญ่ พ่นยังไงก็ไม่ได้สักที ถ้าไม่ลดอุณหภูมิลงมา พ่นมากๆเข้า น้ำไม่อยู่ในอากาศ เข้าไปอยู่ในไม้กันหมด เป็นไงหละ ไม้ก็ขึ้นรา นกก็หายหมดเลย

เขียนบทความโดยคุณ Tweeter

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/21/2009

แหล่งความรู้ของผม

"ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ได้มาง่ายๆ ก็ไม่มีคุณค่าเท่ากับที่เราได้มาด้วยความพยายามและความทุ่มเทของเรา"

ท่านอ่านแล้วรู้สึกยังไงบ้าง ส่วนผมแล้วทำให้ผมรู้สึกถึงสิ่งที่ผมต้องการ จงอย่าท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค ท่านจงเปิดใจตัวเองให้กว้างรับสิ่งต่าง ๆ อย่าปิดกั้น อะไรที่รู้มาบางครั้งก็เป็นเรื่องจริง แต่ยังมีสิ่งที่ดีกว่าหากท่านลงมือศึกษาเอง

หนังสือแนะนำให้ลองอ่านดูนะครับ

หนังสือที่เขียนโดย Dr.Christopher Lim รวบรวมข้อมูลนกแอ่น การเลือกทำเล และการสร้างบ้านนกแอ่น


หนังสือเขียนโดย Dr.E.Nugroho,DVM เป็นอีกเล่มที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าให้ความรู้ในการสร้างบ้านนกแอ่นดีมาก ๆ อีกเล่มครับ

หนังสือที่เขียนโดย Dr.E.Nugroho,DVM และ Dr.Whendrato,DVM ในเล่มก็บรรจุเทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างบ้านนกแอ่น

หนังสือด้านบนคือหนังสือส่วนหนึ่งที่ให้ความรู้กับผม ผมเห็นว่าดีจึงแนะนำต่อ ( ไม่รู้เค้าจะได้ค่านายหน้าหรือเปล่า )

การทำบ้านนกแอ่นทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผล หากท่านเพียงคิดว่าทำ.... ยังงี้แล้ว....จะเกิดยังงั้น โดยไม่มีเหตุและผล ถ้าท่านทำบ้านนกแอ่นสำเร็จถือว่าท่านดวงดีครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

สร้างบ้านนกแอ่น เชื่อใครดี

เมื่อท่านจะสร้างบ้านนกแอ่นสักหลัง ท่านต้องหาข้อมูล ทำการบ้านให้หนัก ๆ เพราะเมื่อท่านไปถามคนที่ทำบ้านนกแอ่นอยู่แล้ว จากที่เคยได้ยินมาเค้าจะบอกว่าอย่าทำเลยนกแอ่นน้อย แต่ตัวเองสร้างบ้านนกแอ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าท่านเลือกที่จะไปถามคนที่รับปรึกษาเรื่องการสร้างบ้านนกแอ่น (แบบที่เสียเงิน) คำตอบที่ได้คือ ทำได้ รีบลงมือเลย นกแอ่นมีแน่นอน ท่านลองคิดดูนะครับ ถ้าท่านยังไม่มีความรู้ไม่ว่าท่านได้รับข้อมูลใดมา ท่านย่อมไขว้เขวตามเหตุผลต่าง ๆ ที่ท่านได้รับฟังมา ผมก็ไม่ได้เก่งมากมายนะครับ แต่ผมไม่อยากให้คนที่มีกำลังทรัพย์จำนวนจำกัดต้องมาเสียเงิืนสร้างบ้านนกแล้วล้มเหลว เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากมาย คราวนี้ลองมาดูแหล่้งข้อมูลที่ท่านสามารถหาอ่านได้นะครับ

1. ถามคุณ Google ดู จะพบแหล่งความรู้ที่พอหาอ่านได้ไม่ยากแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจุดประสงค์ของการให้ความรู้จะต้องการผลประโยชน์หรือไม่ ท่านก็ได้ความรู้ในระดับหนึ่งครับ

2. ถามจากคนมีประสบการณ์ ตรงนี้ถ้าท่านตรงไปถามเลยคงยากครับ คุณ Google อาจบอกได้มากกว่า แต่ถ้าท่านสนิทแล้ว ผู้มีประสบการณ์เหล่านี้แหละครับ คือครูที่ดีแน่ ๆ ครับ

3. อ่านหนังสือที่พอจะมีขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ อาจต้องสั่งมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งคงไม่ยากลำบากหากท่านต้องการความสำเร็จ

4. การเข้าอบรมสัมนา ท่านมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการหาความรู้ด้วยวิธีอื่นแน่ ๆ ครับ แต่ท่านก็จะได้ความรู้ที่หลากหลายและลึกมากขึ้น หากท่านเลือกเข้าอบรมสัมนากับคนที่มีผลงานและเก่งจริง แต่หากเลือกผิดท่านก็อาจไม่ได้รู้อะไรเพิ่มจากที่ท่านได้อ่านตรงนี้เลยครับ

ข้อมูลที่ได้มา ท่านจงเอามากรองอีกครั้งนะครับ เพราะท่่านคือผู้รู้จักพื้นที่ของท่านดีกว่าใคร ๆ สุดท้ายแล้ว จงเชื่อตัวท่านเองครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/09/2009

บ้านนกแอ่นท่านมีโอกาสแค่ไหน (Potential areas to establish a swiftlet house)

บทความนี้มาดูภาพง่าย ๆ และมาตีความกันนะครับ


ภาพนี้ มาหนังสือ Make Millions From Swiftlet Farming ของ DR. Christopher Lim เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมได้ซื้อมาศึกษาครับ

สรุปง่าย ๆ คือท่านต้องเข้าใจพื้นที่ท่านเสียก่อนครับ ว่าจุดศูนย์กลางของพื้นที่เป็นบริเวณใด ถ้าท่านรู้แล้วนั่นแหละครับคือ Area 1 มีโอกาสมากมายครับในพื้นที่นี้
Area 2 เป็นแหล่้งอาหารโดยตรง พื้นที่บริเวณนี้จะมีโอกาสรองลงมา แต่สำเร็จได้ครับ
Area 3 เป็นพื้นที่ใกล้แหล่งอาหาร ท่านใดทำบริเวณนี้ต้องอดทนรอหน่อยนะครับ
Area 4 เป็นพื้นที่ที่ไม่แนะนำเลยครับ โอกาสน้อยมาก ๆ ในการทำบ้านนกแอ่นให้ประสบความสำเร็จ

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

12/08/2009

ชวนกันมาช่วยโลก

ตอนนี้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดก็หนักขึ้น เช่น พายุที่รุนแรงขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายมากมาย สภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ทุกประเทศตื่นตัว ดังนั้นได้เวลาที่พวกเราทั้งหลายที่จะต้องช่วยกันกอบกู้โลกน้อย ๆ ใบนี้ มาดูวิธีกอบกู้โลกกันนะครับ (คลิ๊กภาพจะใหญ่ขึ้นครับ)


ขอขอบคุณ www.plus.co.th/greenforward

เมื่อท่านรักธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะให้สิ่งดี ๆ กับท่านครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

บ้านนกแอ่นสร้างที่ไหนได้บ้าง

หลาย ๆ ท่านมีคำถามว่าพื้นที่ไหนควรทำบ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ถามอีกคนก็บอกว่าทำบ้านนกแอ่นได้หมดทุกที่ เห็นนกแอ่นตรงไหนก็ทำได้ตรงนั้น ตรงนี้จริงครับ แต่นกแอ่นจะอยู่เต็มบ้านหรือไม่ การเพิ่มจำนวนของนกแอ่นได้ตามต้องการหรือไม่ ค่อยว่ากันทีหลัง หากท่านมีทุนหนาจะสร้างตรงไหนก็คงไม่เป็นไร (ถ้ารอได้นาน ๆ จะคุ้มทุนเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ดวง)

แต่เมื่อถามอีกคนก็บอกว่าอย่าทำเลย นกแอ่นน้อยไม่รู้เมื่อไหร่จะคุ้มทุน แต่คนที่บอกว่าอย่าทำกลับสร้างเอา ๆ ไม่นานมีบ้านนกแอ่นหลายหลัง

ดังนั้นเมื่อท่านได้อ่าน ได้ฟังสิ่งต่าง ๆ แล้วจงอย่าเชื่อ 100% ทุกสิ่งที่ท่านได้อ่านหรือศึกษามาล้วนเป็นเพียงพื้นฐานให้ท่านได้คิดและวิเคราะห์ เพื่อจะได้นำมาต่อยอดหรือหากท่านเจอปัญหาจะได้แก้ไขได้ตรงกับสาเหตุ สำคัญที่สุดท่านต้องทำการบ้านด้วยตัวท่านเองหนัก ๆ หากท่านไม่มีเวลาระบบการบันทึกข้อมูลจะเป็นฐานข้อมูลให้ท่านเป็นอย่างดีครับ

พื้นที่ที่สามารถทำบ้านนกแอ่นได้


ขอบคุณสำหรับข้อมูลภาพจากผู้ที่ให้มานะครับ
อ้างอิงจาก Swiftlets of Borneo

ข้อมูลที่ผมได้บอกเป็นเพียงตัวนำทางให้ท่านได้ทราบ ปัจจุบันมีการสร้างบ้านนกแอ่นในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันบ้างแล้ว สุดท้ายแล้ว ท่านเป็นคนตัดสินใจ ขอให้ท่านได้ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำกันทุก ๆ ท่านนะครับ นกแอ่นเต็มบ้าน ช่วยกันสร้างรายได้เข้าประเทศ หากแต่ผมไม่อยากให้คนที่มีงบประมาณจำกัดต้องอยู่ในกลุ่ม 70 % ที่ไม่ประสบความสำเร็จ (เป็นตัวเลขในอดีต ปัจจุบันอาจไม่ถึงแล้ว) อย่าให้ตัวเลขต่าง ๆ มาทำให้ท่านด่วนตัดสินใจ หมั่นศึกษาหาความรู้จะได้ตัดสินใจไม่ผิดพลาดนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

12/07/2009

การเพิ่มจำนวนประชากรของนกแอ่น


หลายท่านคงได้ศึกษาเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรของ นกแอ่น (Swiftlet) มาแล้ว ซึงโดยในทางทฤษฎีแล้ว นกแอ่นจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ 3 เท่าตัว จากการที่นกแอ่นวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง จำนวนสามรอบในหนึ่งปี ดังนั้นท่านอาจเข้าใจว่า จำนวนประชาการนกแอ่นต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว อัตราการรอดของนกแอ่นน้อยมาก จากที่ผมได้วิเคราะห์ดูแล้ว ในหนึ่งปีนั้นนกแอ่นจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้เต็มที่เพียงหนึ่งเท่าตัว เช่้นปีนี้นกแอ่นในพื้นที่ของท่านมีอยู่ 10,000 ตัว ปีหน้าจะมีนกแอ่นเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตัว กรณีที่นกแอ่นอาศัยในถิ่นเดิม (ตรงนี้ท่านใดไม่เชื่อก็ได้นะครับ)

คราวนี้ท่านต้องคิดคำถามที่ผมได้เน้นไว้เสมอนะครับ Location ที่ท่านอยู่นั้นสามารถรองรับนกแอ่นได้ปริมาณเท่าไหร่ (ตรงนี้ตอบยากครับ) หากพื้นที่รับนกแอ่นได้แค่้ 10,000 ตัว จำนวนนกแอ่นที่เพิ่มขึ้นมา ก็ต้องอพยพไปหาแหล่งอาหารใหม่ นกแอ่นในพื้นที่ของท่านก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเลยครับ ดังนั้นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ การหาพื้นที่ที่เหมาะสมจึงเป็นกลไกของความสำเร็จ สำหรับบ้านนกแอ่นของท่านครับ

ขอให้ท่านวิเคราะห์และสร้างบ้านนกแอ่นบนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีนกแอ่นเข้าอยู่มาก ๆ นะครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก swiftletfarmer

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

บ้านนกแอ่น ตอนที่ 1

สำหรับการสร้างบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ของผม เป็นบ้านนกแอ่นหลังเล็ก ๆ ที่หวังว่านกแอ่นคงจะชอบและถูกอกถูกใจ ดูภาพรวม ๆ สำหรับตอนที่ 1 นะครับ เป็นก้าวแรกสำหรับผม


เริ่มด้วยที่ดินที่รกร้างมานานแล้วครับ รอการปรับพื้นที่

หลังจากรถมาไถหน้าดินออกไปนิดหน่อย คราวนี้ที่ดินเริ่มหล่อขึ้นมาแล้วครับ


เสาเข็มก็ตามมาลงเลยทันทีทันใด (ในภาพไม่ใช่ผมนะครับ ผมหล่อสู้ไม่ได้อย่าเข้าใจผิดนะครับ)

ไม่นานเสาเข็มที่กองอยู่ก็จมหายไปในดิน ตรงขั้นตอนนี้สำคัญนะครับ หากเสาเข็มไม่ลึกพอระวังตึกจะค่อย ๆ จมนะครับ เพราะตอกเสาเข็มไม่ลึกถึงชั้นของดินที่แน่นพอครับ

ภาพนกแอ่นที่บินอยู่บริเวณใกล้ ๆ บินอยู่ที่เหนือบ้านนกแอ่นหลังแรก ๆ ครับ ด้วยหวังว่าลูกหลานของพวกเค้าจะสนใจบ้านนกแอ่นที่ผมได้สร้างขึ้นมาครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม