10/23/2009

ทดสอบเรียกนกแอ่นชุด 2 (Bird Call Tests)

วันนี้มาดูวิดิโอภาพทดสอบเรียกนกแอ่น(Bird Call Tests) ชุดที่ 2 กันนะครับ วันที่ผมได้ทำการทดสอบเรียกนกแอ่น (Swiftlet) อากาศกำลังดีครับ เวลาประมาณ 17.30 น. มีเมฆบนท้องฟ้าบางส่วน บริเวณที่ได้ทำการทดสอบเรียกนกครั้งนี้ก็เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่ผมคิดว่าจะสร้างบ้านนกแอ่นหลังที่สอง

ชุดแรกนกแอ่นยังบินค่อนข้างสูงครับ



ชุดที่สองนกแอ่นเริ่มบินลงมาใกล้มากขึ้น



ชุดที่สามผมได้เข้าไปยืนใกล้ ๆ รถของผมที่ได้เปิดเสียงเรียกนกแอ่น นกแอ่นบางตัวบินผ่านหน้ากล้องเลยครับ



ก่อนการทดสอบเรียกนกแอ่นชุดนี้ ผมเห็นนกแอ่นอยู่บนท้องฟ้าอยู่ 2-5 ตัวครับ แต่หลังจากเปิดเสียงเรียกได้ประมาณ 5 นาที จำนวนนกแอ่นที่ให้การตอบรับกับเสียงเรียกนกแอ่นก็ได้มาที่รถอย่างรวดเร็วครับ วันนี้ผลการเรียกนกแอ่นถือว่าดี ผมนับนกแอ่นได้ประ 100 ตัวขึ้นแน่ ๆ ครับ

อย่าลืมนะครับ ท่านใดสนใจนกแอ่น บ้านนกแอ่น คอนโดนกแอ่น รังนกแอ่น ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดและไม่ได้เป็นตามทฤษฎีทุกเรื่องนะครับ ผมจะเขียนหลังจากได้เขียนหลักการพื้นฐานในการสร้างบ้านนกแอ่นเสร็จ คอยติดตามนะครับ

ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ Location สำคัญอันดับแรก ขอให้ท่านคิดไว้เสมอ ถ้า Location ไม่เหมาะสม แต่ท่านเชื่อว่าท่านได้อ่าน ทฤษฎี มาหมดแล้ว และท่านเชื่อทุกอย่าง ความเสี่ยงของท่านผมบอกได้เลยครับ คูณสอง จากที่ท่านคิดแน่ ๆ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/16/2009

วิธีการเก็บรังนกแอ่น

วิธีการเก็บรังนกแอ่น (Nest) การเก็บรังนกแอ่นจากบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) จะแตกต่างจากการเก็บรังนกแอ่นถ้ำ ขอให้ท่านเข้าใจว่าการเ็ก็บรังนกแอ่นถ้ำจะทำเป็นฤดูกาล การเก็บแต่ละครั้งจึงได้รังที่นกแอ่นที่มีลูกนกออกจากรังนกไปแล้ว และรังนกแอ่นที่นกแอ่นยังไม่ได้วางไข่เพราะเพิ่งทำรังเสร็จ นกแอ่นเป็นนกที่สามารถทำรังทดแทนรังเก่าทันที หากรังถูกเก็บไป แต่ต้องก่อนที่นกแอ่นจะวางไข่ วิธีการเก็บก็อันตรายกว่าการเก็บรังนกแอ่นจากบ้านนกแอ่น (Swiftlet House) สีของรังนกก็จะมีหลายสีขึ้นกับแร่ธาตุที่ได้ละลายออกมาจากถ้ำที่นกแอ่นได้ทำรัง ดังนั้นรังนกแอ่นถ้ำจึงมีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ราคาก็จะแพงกว่าเพราะความเสี่ยงมากกว่าครับ



ส่วนวิธีการเก็บรังนกแอ่นจากบ้านนกแอ่น สามารถทำได้โดยใช้ไฟสวมหัว ,เกรียงสำหรับเซาะรังนกแอ่น และบันไดตามความสูงของบ้านนกแอ่นที่ท่านได้สร้างขึ้น การเก็บรังนกแอ่นจะเก็บหลังจากที่ลูกนกแอ่นได้บินออกจากรังไปกับฝูงพ่อแม่นกแอ่นเพื่อหาอาหาร โดยการเก็บรังนกแอ่นนั้นต้องเก็บหลังจากลูกนกแอ่นบินออกจากรังไม่นาน เพราะถ้าท่านไม่รีบเก็บ พ่อแม่นกแอ่นก็จะกลับมาวางไข่ที่รังนกเดิม ทำให้รังนกแอ่นคุณภาพน้อยลง

ถามว่าทำไมเมื่อนกแอ่นสามารถทำรังทดแทนรังเดิมได้ถึงสามครั้ง เราน่าจะเก็บรังนกแอ่นที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ดีกว่าหรือ นกแอ่นวางไข่ปีละ 3 รอบ เราก็เก็บรังนกแอ่นได้ 9 รอบสิ สะอาดก็สะอาดกว่า ได้ก็เยอะกว่า แต่เนื่องจากบ้านนกแอ่นที่ท่านสร้างขึ้นต้องการให้ปริมาณนกเพิ่มขึ้น การให้นกแอ่นได้ฟักไข่ การได้ลูกนกสำคัญกว่านะครับสำหรับระยะยาว และผมคิดว่าไม่เป็นการเอาเปรียบนกแอ่นมากเกินไปด้วยครับ นกแอ่นเค้าก็ต้องการขยายเผ่าพันธุ์ เค้าสร้างรังนกเพื่อจะได้เลี้ยงลูกของเค้า เค้าคงไม่อยากให้ท่านเก็บรังนกที่เค้าได้ทุ่มแรงในการสร้างก่อนที่ลูก ๆ ของเค้าได้บินออกจากรัง เพื่อกลับมาสร้างรังนกที่บ้านนกแอ่นของท่านอีกนะครับ

บ้านนกแอ่นที่นกแอ่นได้ตัดสินใจอยู่ นกแอ่นคิดว่าเป็นที่ปลอดภัยเพื่อให้เค้าขยายเผ่าพันธุ์นะครับ ท่านอย่าลืมข้อนี้นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/14/2009

วัสดุที่ใช้ตีรัง (Nesting Plank)


วัสดุที่ใช้ตีรัง (Nesting Plank) นิยมใช้ไม้ที่ไม่มีกลิ่น มีความแข็งระดับปานกลางครับ ไม้ที่ว่านี้คือไม้สยาหิน หรือไม้สยาแดง ครับ ปัจจุบันหายากมาก สำหรับในมาเลเซีย เรียก Meranti ผมมีเพื่อนที่ทำร้านขายไม้อยู่ได้บอกว่าตอนนี้ไม้สยาแดง โดนพวกนายทุนในกรุงเทพซื้อไปทำวงกบประตู หน้าต่าง ทำให้ไ้ม้ขาดตลาด ไม้ที่ได้มาจึงโดนสวมครับ เพราะคนซื้อก็ไม่รู้ว่าหน้าตาไม้สยาแดงเป็นยังไง เพื่อนผมคนนี้ได้แนะนำไม้ เสี่ยช่อ เป็นตัวเลือกที่ทดแทนไม้สยาแดงครับในปัจจุบัน มีบ้านนกแอ่นหลายหลังได้นำไม้เสี่ยช่อไปตีไม้รังแล้ัวได้ผลครับ นกแอ่นทำรัง

ไม้ที่จะนำมาตีรังให้นกแอ่น ควรมีความหนา 1 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว หรือ 8 นิ้ว ก็ได้ครับ มีการเซาะร่อง กว้าง 2 มิลลิเมตร ลึก 2 มิลลิเมตร เพื่อให้นกแอ่นเกาะได้ง่ายครับ จำนวนร่องที่เซาะก็ตั้งแต่สามร่องถึงสิบร่องก็ได้ครับ แล้วแต่ความชอบของท่าน ยิ่งมากยิ่งดีครับ นกแอ่นจะได้เกาะได้สะดวก

รูปแบบการตีไม้รังในบ้านนกแอ่นนั้น นิยมความกว้าง 35-40 cm(ไม้ขวาง) ความยาว 1 เมตร(ไม้ยาว) ต่อ 1 ช่องครับ ความกว้างที่นำมาใช้จากที่ผมได้อ่านมาคงเป็นเพราะนกแอ่นเวลากางปีกจะมีความยาวตั้งแต่ปลายปีกซ้ายถึงปลายปีกขวาประมาณ 15 cm ดังนั้นจะมีนกบินเข้ารังได้ 2 ตัวในแนวเดียวกัน โดยปีกไม่โดนกัน เป็นขนาดที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดในการตีไม้รังให้นกแอ่นทำรังครับ ส่วนภาพการตีไม้รังผมจะนำมาลงให้อีกครั้งครับ เป็นภาพจากบ้านนกแอ่นที่ผมจะได้เป็นเจ้าของครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

ขนาดของบ้านนกแอ่น (Size of Swiftlet House)

บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ควรมีขนาดเท่าไหร่จึงเหมาะสม คำตอบก็ขึ้นอยู่กับงบในกระเป๋าของท่านเองครับ แต่บ้านนกแอ่นหลังใหญ่ก็ต้องอยู่ในสถานที่ตั้งที่เหมาะสมนะครับ Location ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยแรกที่สำคัญมาก ๆ

มาดูขนาดบ้านนกแอ่นกันครับ ความกว้างอย่างน้อยต้อง 4 เมตร น้อยกว่านี้ท่านอย่าได้คิดทำนะครับ ไม่งั้นเหนื่อยแน่ ๆ ความกว้างได้ยิ่งมากยิ่งดี (นึกถึงถ้ำที่นกแอ่นอยู่ได้ครับ) เสากลางก็ไม่ควรจะมีครับ นกแอ่นที่กำลังหัดบินจะหลบไม่ทัน เดี๋ยวหัวโน ครับ แต่ถ้ากว้างเกิน 6 เมตร คานก็จะใหญ่มากต้นทุนก็สูงตามไปด้วย อย่างในประเทศมาเลเซียจะสร้างกันที่ ความกว้าง 4-6 เมตร ความยาวก็ตั้งแต่ 12-24 เมตร จะสร้าง 2 หรือ 3 ชั้นก็ได้ครับ ส่วนความสูงของแต่ละชั้น เพื่อความสะดวกความสูง 3 เมตรดีที่สุดครับ ง่ายในการเก็บรังนกแอ่น แต่ผมได้ทราบมาว่าบ้านนกแอ่นที่มีความสูงน้อย รังนกแอ่นที่เก็บได้ก็จะมีขนาดเล็ก ตรงนี้ผมคงต้องลองดูครับว่าจริงหรือเปล่า ส่วนบ้านนกแอ่นที่ผมจะสร้างเลือกความสูงในแต่ละชั้น 3.5 เมตรครับ

บทความหลาย ๆ บทความได้พูดถึงการสร้างบ้านนกแอ่นเพื่อลดความเสี่ยง ความเสี่ยงที่ว่านี้คือ หากท่านมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ท่านอาจสร้างบ้านนกแอ่นหลังใหญ่ได้หนึ่งหลัง แต่ความเสี่ยงก็มากครับ ถ้านกแอ่นเข้าช้า แต่หากท่านนำเงินที่มีอยู่มากระจายสร้างบ้านนกแอ่นเป็นสองหรือสามหลัง เป็นหลังเล็ก ๆ ในคนละพื้นที่กัน หากนกแอ่นเข้าอยู่หลังใดหลังหนึ่งอย่างรวดเร็ว ท่านก็จะมีรายได้เลี้ยงบ้านนกแอ่นที่เหลือของท่านได้อย่างสบายครับ

นกแอ่นเป็นนกที่ชอบบินเล่น วงบินของนกแอ่นเป็นสิ่งสำคัญ จงสร้างบ้านตามใจผู้อยู่นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/10/2009

ขนาดของทางเข้า-ออก(In-Out hole)

บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) จะมีการออกแบบสร้าง เป็นสามส่วนหลัก ๆ คือ

1.ช่องทางเข้า (In - Out hole, Entrance hole)
2.พื้นที่ให้นกแอ่นบินเล่น (Swiftlet roving area)
3.พืนทีี่ให้นกแอ่นทำรัง (Swiftlet nesting area)

สำหรับช่องทางเข้าออกนั้น ปัจจุบันได้มีการสร้างให้นกเข้าด้วยกัน 3 แบบ คือ

1.ช่องทางเข้าแบบคอกสุนัข (Dog kennel) จะออกแบบเป็นหอยื่นสูงขึ้นไปจากตัวบ้านนกแอ่น เพื่อรับนกให้บินเข้ามาภายในบ้าน แต่ท่านต้องระวังเรื่องขนาดของคอกด้วยนะครับ อย่าให้เล็กเกินไปเพราะนกแอ่นไม่ชอบแน่ ๆ ครับ หากเค้าบินเข้ามาเพื่อจะสำรวจบ้านแล้วทางเข้าไม่ดี เปรียบเหมือนท่านไปพักโีรงแรมห้าดาว แต่เจอการต้อนรับแบบน่าผิดหวัง ต่อให้ห้องพักดียังไง ท่านก็คงไม่กลับไปพักอีกแน่ ๆ

2.ช่องทางเข้าแบบหน้าต่าง (Window style) เป็นช่องทางเข้าที่เปิดข้างกำแพงบ้านนกโดยตรง ไม่ได้ทำหอสูงขึ้นไป เหมาะสำหรับอาคารหรือตึกที่มีความสูงอยู่แล้วครับ

3.ช่องทางเข้าแบบเปิดหลังคา (Open rooftop style) เป็นการเปิดช่องให้นกแอ่น บินลงเข้าบ้านจากด้านบน การเปิดช่องทางเข้า - ออก แบบนี้จะดูจากด้านนอกไม่ได้ การเปิดเสียงเรียกนกแอ่นก็จะเปิดขึ้นท้องฟ้า ถ้าข้าง ๆ บ้านนกแอ่น ที่ท่านจะทำมีคนอยู่ ก็จะไม่รบกวนข้างบ้าน ผมว่าเลือกแบบสุดท้ายนี้ดีที่สุดครับ อย่าให้ปัญหาเรื่องเสียงมาทำให้บ้านนกแอ่นท่านมีปัญหาโดนร้องเรียน เปิดเสียงเรียกอย่าให้ดังเกินไป เลือกวิธีให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดปัญหาที่จะตามมาได้เยอะครับ

ขนาดของช่องทางเข้า - ออก นั้น ถ้าเป็นบ้านใหม่ หลังไม่ใหญ่มากทำขนาด 40x80 cm ก็พอครับ ช่องทางเข้า - ออก ไม่ควรหันไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก ท่านคิดไว้เสมอนะครับว่าถ้าเราเป็นนกแอ่น เราจะชอบแบบไหน ถ้าช่องทางเข้า - ออก ใหญ่เราบินได้สบาย อย่ากังวลเรื่องแสงที่จะเข้าบ้านนกจนทำช่องทางเข้า - ออกเล็ก จนนกแอ่นบินไม่สะดวกนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/08/2009

นกแอ่นที่เมืองตรัง


วันนี้ได้มาที่จ.ตรัง เป็นช่วงเวลาหลังฝนตก เห็นนกแอ่นบินอยู่บ้างเลยลองเรียกดูหน่อยด้วยอุปกรณ์ติดรถ


ภาพแรกเป็นบริเวณที่ผมเรียกนกแอ่น ทำเลดีจริง ๆ เป็นถิ่นหากินที่นกแอ่นออกมาหาอาหาร ไม่ไกลจากอำเภอเมืองที่มีการทำบ้านนกอยู่มากนัก

พอเปิดเสียงเรียก นกแอ่นหันมาสนใจ " ใครเรียกเราหว่า "




นกแอ่นยังอยู่สูง ภาพที่ได้ยังไม่ค่อยชัดครับ รอให้ลงมาใกล้กว่านี้ต้องขอชัด ๆ หน่อย

เริ่มใกล้มาอีกนิดหละ


นกแอ่นบางส่วนลงมาถึงรถแล้วครับ


นกแอ่นลงมาต่ำขนาดนี้ ต้องขอเก็บภาพชัด ๆ ให้ท่านได้ดูแบบเต็ม ๆ ให้ได้



กล้องที่ผมใช้คงได้เต็มที่เท่านี้ครับ กดไปเป็นร้อย ได้ภาพที่พอดูได้ให้ท่้่านได้ชมก็ประมาณนี้ครับ

ส่วนภาพเคลื่อนไหวจะลงให้ดูต่อไปนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/07/2009

แสงสว่าง (Lighting)

ผมได้กล่าวถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นไปแล้ว คือ ทำเลที่ตั้งบ้านนกแอ่น อุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่น ต่อจากนี้จะเป็นปัจจัยรองลงมาแต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน สำหรับการทำบ้านนกแอ่น(Swiftlet House)ให้ประสบความสำเร็จ

แสงสว่าง (Lighting) ในบ้านนกแอ่นควรมีค่าความสว่างไม่เกิน 2-3 ลักซ์ ความสว่างที่ว่านี้เรียกว่า มืด เลยก็ว่าได้ครับ เนื่องจากนกแอ่น (Swiftlet) ชอบแสงสว่างน้อย ๆ บริเวณที่ทำรัง เพราะนกแอ่นจะรู้สึกปลอดภัย ถ้าบ้านนกแอ่นมีแสงสว่างเข้าไปมาก นกที่ชอบคือ นกนางแอ่น(Swallows) เป็นนกที่ชอบแสงสว่างมากกว่า นกแอ่น แต่ไม่ใช่นกที่ท่านต้องการเลี้ยงนะครับ

การควบคุมแสงสว่างในบ้านนกแอ่นจะเริ่มตั้งแต่ช่องทางบินเข้า-ออกของบ้านนกแอ่น หลังจากที่นกบินเข้ามาในบ้าน จะเป็นห้องดักแสงและเป็นห้องสำหรับให้นกบินเล่น (Roving Area) ต่อมาจึงเป็นห้องสำหรับให้นกแอ่นทำรัง ซึ่งแสงสว่างจะเข้ามาถึงห้องนี้ได้น้อย หากว่าแสงสว่างเข้ามายังห้องสำหรับใ้ห้นกแอ่นทำรังมากอยู่แแสดงว่าบ้านนกแอ่นของท่านยังควบคุมเรื่องแสงไม่ดีพอ

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

10/06/2009

ความชื้นในบ้านนกแอ่น (Humidity in Swiftlet House)



บ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ควรมีความชื้น (Humidity) ที่ 75%-85% ที่มาของความชื้นที่เหมาะสมนี้มาจากการศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยในถ้ำตามธรรมชาติอีกเช่นกัน สำหรับบ้านนกแอ่น ความชื้นจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิเพราะถ้าการควบคุมความร้อนไม่ดี ทำให้อากาศภายในบ้านนกแอ่นมีอุณหภูมิสูงกว่า 30'C การระบายอากาศร้อนภายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออากาศภายนอกเข้ามาเพื่อระบายความร้อนภายในบ้านนกแอ่น ความชื้นภายในก็จะลดลงตามไปด้วย

แต่หากว่าความชื้นสูงกว่า 85% วัสดุที่เป็นไม้ตีรังจะเกิดเชื้อรา ทำให้นกแอ่นไม่ทำรังและจะเป็นสาเหตุให้นกแอ่นไปหาบ้านใหม่เป็นแหล่งพักพิงได้นะครับ


ทำไมบ้านร้างจึงมีนกแอ่นเข้าไปทำรัง เพราะบ้านเหล่านี้มีการปิดบ้านเป็นเวลานานทำให้ความชื้นภายในบ้านร้างเหล่านั้นใกล้เคียงกับถ้ำตามธรรมชาติที่นกแอ่นเคยอยู่ เมื่อนกแอ่นได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจภายในบ้าน นกแอ่นที่ยังไม่ได้ตัดสินใจอยู่ที่ไหน (ลูกนกแอ่นที่เพิ่งบินตามพ่อแม่นกแอ่นออกมาหากินกับฝูง) ก็มีโอกาสตัดสินใจเลือกบ้านร้างเหล่านั้นเป็นบ้านถาวรได้ ท่านลองคิดดูขนาดบ้านร้างนกแอ่นยังเข้าไปอยู่แล้วบ้านนกแอ่นที่ เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ตั้งใจสร้างให้พวกเค้าอยู่ย่อมมีโอกาสมากกว่า ถ้า่ท่านเข้าใจพวกเค้าเพียงพอ

การเพิ่มความชื้นภายในบ้านนกแอ่นสามารถทำได้โดยใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifier) หรือการกักเก็บน้ำไว้ภายในบ้านนกแอ่น แต่ระวังเรื่องน้ำรั่วด้วยนะครับ เีดี๋ยวไม้ตีรังจะเกิดเชื้อราก่อนที่นกแอ่นจะทำรังให้ท่านนะครับ

จงอย่ามองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งที่่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนกแอ่นได้นะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

10/05/2009

อุณหภูมิในบ้านนกแอ่น (Temperature in Swiftlet House)

บ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ควรมีอุณหภูมิเท่าไหร่จึงเหมาะสม คำตอบเรื่องนี้จริง ๆ แล้วนกแอ่นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงอุณหภูิมิกว้างพอสมควร แต่ที่เหมาะที่สุดคือ 27-29 'C ถ้าปกติบริเวณถ้ำตามธรรมชาติที่นกแอ่นอาศัยอยู่จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 28'C การทำบ้านนกแอ่นจึงต้องควบคุมอุณหภูมิให้ดี ๆ คิดว่าทุ่มทุนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ เลยก็จะดีมาก ๆ เพราะ้ถ้าเกิดอุณหภูมิสูงเกิน 30'C แล้ว มาแก้ที่หลังเจองานช้างแน่ ๆ ครับ แก้ได้ก็ดีไปแต่เสียเวลาครับ เอาเวลามานั่งนับนกแอ่นบินเข้าบ้านดีกว่า

บริเวณใดที่ต้องควบคุมอุณหภูมิบ้าง
1.ดาดฟ้า จุดนี้สำคัญที่สุดครับเพราะเป็นบริเวณที่รับแสงจากดวงอาทิตย์ทั้งวัน ถ้าฉนวนไม่ดีพอจะทำให้บ้านนกแอ่นชั้นบนสุดมีอุณหภูมิสูงได้ ดาดฟ้าถ้ามีหลังคาคลุมอีกชั้นจะดีมาก ๆ โดยให้ลมเป็นตัวถ่ายเทความร้อนของอากาศระหว่างหลังคาและดาดฟ้า
2.ผนังด้านที่รับแสง ในที่นี้คือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก อาจใช้วิธีการก่อกำแพงสองชั้น, ใช้อิฐมวลเบา, หรือฉนวนมากั้นความร้อนไม่ให้ผ่านเข้าไปต้านในบ้านนกแอ่น จะเลือกวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวอาคารและงบประมาณครับ
3.ผนังด้านที่ไ่ม่ได้รับแสงตรง ๆ ในที่นี้คือทิศเหนือและทิศใต้ สองด้านนี้ไม่ค่อยจำเป็นนัก

บ้านนกแอ่นที่ดีควรมีอุณหภูมิแตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนไม่เกิน 3-4'C

นกแอ่นออกบินหากินทั้งวันแล้ว เมื่อกลับมาบ้านก็อยากพักผ่อนในบ้านที่เย็นสบาย กลางวันก็อยากให้ไข่และลูกนกแ่อ่นไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ถ้าทำได้บ้านนกแอ่นของท่านก็เหมือนโรงแรมห้าดาวของนกแอ่นแล้วครับ ไม่จองล่วงหน้าไม่มีที่ว่าง นกแอ่นต่อคิวจองยาวแน่ ๆ ครับ

เห็นภาพห้องพักด้านบนแล้วผมอยากนอนพักในห้องนี้ทั้งวันเลย หากท่านสร้างบ้านนกแอ่นแล้วนกแอ่นเกิดความรู้สึกแบบที่ผมรู้สึกกับห้องพักด้านบนได้ ท่ีานสอบผ่านแน่ ๆ ครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม

การเลือกทำเลสร้างบ้านนกแอ่น (Location of Swiftlet House)



ปัจจัยแรกที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างบ้านนกแอ่น(Swiftlet House) คือ การเลือกทำเลที่ตั้ง (Location) เพราะถ้าท่านสร้างบ้านนกแอ่นได้สมบูรณ์แบบมาก ๆ แต่เลือกทำเลผิด โอกาสที่ท่านจะล้มเหลวก็มีสูงมากครับ ประเทศไทยถือว่าโชคดีที่มีภูมิอากาศเหมาะสมในการขยายพันธุ์ของนกแอ่นรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านคือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ทำเลที่ตั้งที่ท่่านต้องนึกถึงต้องประกอบด้วยพื้นที่ลุ่ม นาข้าว หรือพืชที่สูงไม่เกินสองเมตร ประมาณ 60% และ มีแหล่งน้ำและพืชที่สูงมากกว่าสองเมตรอีกประมาณ 40% จากที่ผมได้ศึกษามา นกแอ่นจะบินหากินในรัศมี 25 กิโลเมตร คราวนี้ท่านก็ดูว่าในรัศมี 25 กิโลเมตร มีบ้านนกแอ่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเทียบกับแหล่งอาหารที่มีอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าพื้นที่นั้น ๆ จะรองรับนกแอ่นได้กี่ตัว และในพื้นที่ต่างกันที่มีภูมิศาสตร์เหมือนกันก็จะรองรับจำนวนนกแอ่นได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ที่มีความสมบูรณ์มากกว่าก็จะรองรับนกแอ่นได้มากกว่า ดังนั้นจำนวนบ้านนกแอ่นก็จะสามารถสร้างได้มากขึ้นด้วย เราจึงต้ัองช่วยกันรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์มาก ๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้นกแอ่นนะครับ หากบริเวณใดแหล่งอาหารไม่เพียงพอสำหรับจำนวนนกแอ่น นกแอ่นก็จะอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ไม่แน่นะครับนกแอ่นจากประเทศเพื่อนบ้านอาจบินอพยพมายังบ้านนกแอ่นที่ท่านกำลังสร้างก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ ท่านดูนกแอ่นและสภาพความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ของท่านเองก่อนดีที่สุดครับ

การนำแบบบ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จจากที่หนึ่ง ไปสร้างในอีกที่หนึ่งที่ภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกันอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จรวดเร็วเหมือนที่คิด เพราะยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ที่เป็นปัจจัยย่อยให้ท่านคอยสังเกต เจ้าของบ้านนกแอ่นจึงควรหมั่นศึกษาและจดบันทึกเพื่อจะได้นำความรู้ที่ท่านได้มาช่วยกันต่อยอดการทำบ้านนกแอ่นให้ประสบความสำเร็จให้สูงที่สุด

นำเสนอโดย วรชาิติ มุนเนียม

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.taklong.com/

10/01/2009

ทดสอบเรียกนกแอ่น (Bird Call Tests)



วิดิโอคลิป ทดสอบเรียกนก 1

การทดสอบเรียกนกแอ่น(Bird Call Testes) เป็นการทดสอบเรื่องสถานที่ตั้งของบ้านนกแอ่น(Swiftlet House) ที่กำลังจะสร้างว่าท่านมีโอกาสประสบความสำเร็จเร็วมากน้อยเพียงใด ถ้าสถานที่ท่านเลือกเป็นจุดศูนย์กลางของนกแอ่น การทดสอบคงไม่จำเป็นนัก หรือจะทำเพื่อลองดูว่านกแอ่นให้การตอบรับกับเสียงเรียกของท่านหรือไม่ก็ได้ แต่ถึงไม่เรียกเราก็เห็นจำนวนนกแอ่นที่บินอยู่แล้ว แต่สำหรับในบริเวณที่ยังไม่มีบ้านนกแอ่น และัห่างจากจุดศูนย์กลางของแหล่งที่อยู่อาศัยของนก การทดสอบเรียกจึงจำเป็นที่ต้องกระทำก่อนการสร้างบ้านนกแอ่นนะครับ การทดสอบเรียกนกแอ่นนั้น ต้องทำหลาย ๆ วัน เพราะอากาศและเวลาในการเรียกนกแอ่นในแต่ละวันนั้นมีผลต่อจำนวนนกแอ่นที่จะมาแสดงตัวให้เราเห็นแน่ ๆ ครับ



วิดิโอคลิป ทดสอบเรียกนก 2

โดยเวลาที่จะทำการทดสอบเรียกนกแอ่นนั้น สามารถทำได้ทั้งวัน แต่จะให้ผลดีที่สุดเวลาประมาณ 16.30-17.30 น. ในแต่ละวันและในแต่ละครั้งควรเรียกประมาณ 20-25 นาที เว้นแต่วันนั้นฝนตกหนักอากาศครื้ม นกแอ่นก็จะออกหากินไม่ไกลจากที่พักมากนัก ถ้าฝนตกตอนเย็น นกแอ่นก็จะบินกลับบ้านเร็วเช่นเดียวกันครับ ซึ่งในสภาวะปกติถ้าเราเรียกนกแอ่นหลัง 17.30 น. จะได้เห็นนกแอ่นบินมาแล้วก็ไปเร็วเพราะใกล้มืดแล้ว นกแอ่นจะรีบกลับบ้านไปจู๋จี่กับคู่แล้วหลังจากบินกันมาทั้งวัน สำหรับผมแล้วการเรียกนกแอ่นในบริเวณที่ผมจะสร้าง บ้านนกแอ่น ได้ผลตอบรับที่ดีในวันที่ท้องฟ้าโล่งในตอนเย็น ถ้าวันไหนครื้ม ๆ ทั้งวันจะได้จำนวนนกแอ่นที่ให้การตอบรับกับเสียงเรียกที่ผมใช้น้อยกว่า สำหรับจำนวนนกแอ่นที่ตอบรับกับเสียงเรียกแล้วทำให้เรามั่นใจได้ ต้องเป็นหลักร้อยนะครับ ในบางบทความบอกว่าต้อง 250 ตัวขึ้นไปด้วยครับ

หลังจากนี้ผมคงมีผลการทดสอบการเรียกนกมาให้ดูเรื่อย ๆ ครับ สำหรับในแต่ละพื้นที่ที่ผมได้เดินทางไปถึง

ผมยังไม่เก่งอะไรมากมาย แต่การได้เขียนบทความใน Blog http://swiftletsourceofinformation.blogspot.com/ ทำให้ผมได้รวมข้อมูลที่ได้ศึกษามาทั้งในเวปและทางหนังสือที่ได้สั่งซื้อมาอ่าน และคิดว่าคงมีประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจเรื่้อง บ้านนกแอ่น (Swiftlet House) ไม่มากก็น้อยนะครับ

นำเสนอโดย วรชาติ มุนเนียม